วันนี้ได้ฤกษ์มาทักทายทุกท่านด้วยตัวเองเสียที หลังจากที่เจ้าภัทรเพื่อนสุดเลิฟ มาเปิดตัวไว้อย่างสวยงาม (เกินจริง) ว่าทุกท่านจะได้ความรู้เรื่องประกันจากแจง ซึ่งแจงเองก็หวังให้เป็นเช่นนั้น (-  – !)
อย่างที่ภัทรได้บอกไปว่า  มาขอร้องแกมบังคับขู่เข็ญให้ช่วยเขียนอะไรมาลงเว็บให้หน่อย เพราะช่วงนี้ไม่มีเวลาอัปเดทเว็บเลย เดี๋ยวแฟนๆ ที่มีอยู่น้อยนิด จะน้อยลงไปอีก ในฐานะที่แจงกับภัทร ได้คบหาดูใจกันมาเป็นเวลาเกือบ 7 ปีแล้ว และภัทรก็เป็นลูกค้าที่น่าร้ากกกกกก เลยใช้เวลาไตร่ตรองประมาณเสี้ยวนาที ก็ตอบตกลง ด้วยหวังว่า อย่างน้อยจะได้เป็นสื่อกลางระหว่างสินค้า กับ ผู้ซื้อ ให้เกิดความเข้าใจในกันและกัน จะได้ไม่มองตัวแทนประกันชีวิตเป็นเหมือนแมลงสาบอย่างทุกวันนี้…(T-T)  และที่สำคัญที่สุด คือ คิดว่าผลบุญครั้งนี้จะได้ยอดจาก ตาภัทรเพิ่ม และถือโอกาสขยายตลาดไปในตัว (คือ แอบหวังเล็กๆว่า ถ้าทัศนคติของคนทั่วไป มองสินค้าประกันชีวิตดีขึ้น ยอดขายจะได้เพิ่มขึ้นด้วย…อิอิ)

ที่เขียนมาทั้งหมดสรุปก็คือจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับประกันชีวิต นั่นแหละ เพียงแต่จะเป็นในมุมมองของแจงเอง (อาจจะมี ทฤษฏี ที่น่าเบื่อนิดหน่อยมาเกี่ยวข้องบ้าง) แต่ที่สำคัญคือ “ภาษา” แจงก็จะเน้นไปทางภาษาพูด ให้เข้าใจง่ายๆ มากว่าที่จะเป็นภาษาหนังสือ ที่อ่านแล้ว งง แถมยังต้องมาตีความ เหมือนร่างรัฐธรรมนูญ (มันเกี่ยวกันตรงไหน)

เมื่อรู้จักที่มาที่ไปของแจงแล้ว เรามาทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของ การประกันกันบ้าง แนวความคิดที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของการประกัน นั่นก็คือ แนวความคิดเกี่ยวกับความเสี่ยง (The Concept of Risk)
ความเสี่ยงเกิดขึ้นเมื่อมีความไม่แน่นอนในอนาคต เราทุกคนก็พบกับความเสี่ยงตลอดเวลาอยู่แล้ว ลองแบ่งความเสี่ยงอย่างง่ายๆเป็น 2 ประเภท คือ ความเสี่ยงแบบเก็งกำไร (Speculative Risk) และ ความเสี่ยงแบบล้วนๆ (Pure Risk)
แล้วความเสี่ยงทั้ง 2 แบบต่างกันยังไงล่ะ  !!!! ความเสี่ยงแบบเก็งกำไร ผลที่เกิดขึ้นเป็นไปได้ 3 กรณีคือ ได้ เสีย หรือ ไม่ได้ไม่เสีย แต่ความเสี่ยงแบบล้วนๆ ผลที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีโอกาสได้เลย มีแต่เสีย หรือ ไม่เสีย เท่านั้น
ยกตัวอย่างความเสี่ยงแบบล้วนๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น สมมติ นาย ก  (อ่านว่า นาย – กอ ไม่ใช่ นา-ยก) ทำงานมีเงินเดือน 10,000 บาท ถ้าวันหนึ่ง นาย ก ถูกรถชน กลายเป็นคน แขนหัก ขาขาด เป็นคนพิการ หรือ ภาษาทางการเรียกว่า “ทุพพลภาพ” ก็จะไม่สามารถทำงานได้ รายได้ทั้งหมดก็หายไปด้วย แต่ถ้าไม่กลายเป็น คนทุพพลภาพ นาย ก จะยังมีรายได้ต่อไปเช่นเดิม (ยกเว้นว่าจะอู้ หรือ ขี้เกียจทำงาน อันนี้ช่วยไม่ได้)
ไอ้เจ้าความเสี่ยงแบบล้วนๆนี่แหละ เป็นตัวที่ก่อให้เกิด การประกันขึ้น ดังนั้น อยากให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า การทำประกันนั้น ทำเพื่อทดแทนความสูญเสีย ไม่ใช่เพื่อ ทำกำไร (แอบ อธิบายเจ้าภัทรไปในตัว)
มาดูกันต่ออีกนิดนึงว่า ความเสี่ยงแบบล้วนๆ ก่อให้เกิดการประกัน ได้ยังไง
เมื่อมีความเสี่ยงเกิดขึ้น วิธีจัดการกับความเสี่ยงที่เราพอจะทำได้อย่างแรกคือ หลีกเลี่ยงความเสี่ยง เช่น ถ้าเราต้องการไปฮานอย แต่กลัวเครื่องบินตก เราก็หลีกเลี่ยงโดยการไม่ขึ้นเครื่องบิน หรือบางคนอาจจะเลือกขึ้น 3 บาท แทน 0 บาท เพราะไหนๆ ก็ตายแล้ว ขอกำไร 3 บาทก็ยังดี (คิดได้ไงเนี้ย) แต่อย่าลืมว่า ความเสี่ยงบางอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
วิธีจัดการความเสี่ยงวิธีที่สองก็คือ การควบคุมความเสี่ยง เช่น เจ้าของร้านกลัวว่าร้านจะถูกไฟไหม้ เจ้าของร้านก็ทำได้แค่ห้ามคนสูบบุหรี่ในร้าน ดูแลจัดเก็บวัสดุที่ก่อให้เกิดไฟให้ดี หรืออาจจะติด Sprinkle ดับไฟ ซึ่งวิธีนี้ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความสูญเสีย และ ลดขนาดความสูญเสียให้น้อยลงด้วย (และบาปกรรมทั้งหมดก็จะตกไปอยู่ที่ ไฟฟ้าลัดวงจรแทน ก็มันช่วยไม่ได้นี่นา…เนอะ)
เมื่อควบคุมความเสี่ยงเป็นอย่างดีแล้ว แต่ดวงมันถึงคราวเคราะห์ ยังไงก็ยังจะเกิดความเสียหายขึ้นอีก จะทำยังไงดีล่ะ?
วิธีที่สามจึงเป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่ยังใช้กัน นั่นก็คือ การยอมรับความเสี่ยง (ประมาณว่า ยอมรับชะตากรรมนั่นแหละ) หมายความว่า เรายินดีรับผิดชอบความสูญเสียที่เกิดขึ้นเอง เช่น ถ้านาย ข ผู้ขับรถระบะ รุ่นที่ใบสั่งเยอะ แล้วกลัวรถถูกขโมย แต่นาย ข ก็ไม่ยอมซื้อประกันเพื่อคุ้มครองกรณีรถหาย หากรถถูกอุ้มไป นาย ข ต้องรับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมดแต่ผู้เดียว (ยกเว้นว่าจะมีใครช่วยผ่อนด้วย อันนี้ตัวใครตัวมัน) มองอีกมุมก็คือ นาย ข เลือกที่จะทำ ประกันภัยตัวเอง
เมื่อทั้งสามวิธีไม่สามารถจัดการความเสี่ยงให้เป็นที่พอใจได้ จึงเกิดวิธีสุดท้ายขึ้น นั่นก็คือ การย้ายความเสี่ยง นั่นเอง แต่วิธีนี้ ไม่ได้หมายความว่า ความเสี่ยงเกิดขึ้นกับคนอื่นแทนนะ แต่หมายความว่า เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ก็จะมีใครบางคน (ที่ไม่ใช่แพะ) รับผิดชอบความเสียหายนี้แทนเรา ใครที่ว่า นั่นก็คือ บริษัทประกัน นี่เอง
ถึงตรงนี้ คงพอจะรู้ถึงที่มาที่ไปของ การประกัน บ้างแล้ว และ ก่อนที่จะเขียนอะไรทีล่อแหลมต่อการ ทำให้เว็บเพื่อนรักโดนบล็อก แจงก็คงต้องขอจบตอนที่หนึ่งเท่านี้และในคราวหน้าจะได้รู้กันเสียทีว่า ประกันชีวิต คืออะไร???