เข้าฤดูน้ำหลาก เอ้ย ไม่ใช่ … โค้งสุดท้ายของการยื่นแบบและนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีกันแล้ว (หมดเขตการนำส่งวันที่ 30 กันยายน 2557 นี้นะคะ) มีหลายคนยัง งง และ สงสัย ว่า อะไรคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือศัพท์ในวงการ(วงการไหน?) เรียกว่า ภงด. 94 ว่าต้องยื่นด้วยมั้ย เพราะที่ยื่นสิ้นปี(ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี) ก็ปวดหัวพอแล้ว ยังจะมายื่นอะไร ครึ่งปง ครึ่งปีกันอีก
วันนี้ทางสำนักงานเลยจะมาไขข้อข้องใจ ว่า อะไรคือภงด.94 กันค๊า
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีหรือเรียกกันสั้นๆว่า ภงด.94 เป็นภาษีที่เสียก่อนถึงกำหนดเวลาเสียภาษีสิ้นปี โดยมีกำหนดเวลาในการยื่นแบบภายในเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีภาษีนั้น ซึ่งคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง 40(8) ตามเกณฑ์เงินสดในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนในปีภาษีนั้น นั่นแสดงว่าถ้าเราไม่ได้รับเงินได้ 40(5) – (8) ในช่วงครึ่งปีแรกก็ไม่เกี่ยวกับภงด.94 แล้ว (สบายใจได้)
แต่ช้าก่อน สรรพากรยังใจดีให้อีก หากมีเงินได้ดังกล่าวข้างต้นไม่ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้ก็ไม่ต้องยื่นภงด.94 เช่นกัน
1. ผู้ที่เป็นโสด ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท
2. ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสอง ฝ่ายรวมกันเกินกว่า 60,000 บาท
พูดง่ายๆก็คือ หากมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง 40(8) ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ได้รับไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีนะคะ นอกจากนี้ ภาษีที่เราได้เสียไปครึ่งปีแล้วก็ยังไม่เสียเปล่า หากเรายื่นเสียภาษีสิ้นปี ก็ยังนำภาษีครึ่งปีนี้ ไปเป็น เครดิตภาษี หัก ออกจากภาษีสิ้นปีได้อีกด้วย
แล้วอะไรคือเงินได้ 40(5) – (8)??
ประเภทของเงินได้ที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน อาทิ การให้เช่าที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น เงินได้จากการประกอบโรคศิลปหรือแพทย์รักษาคนไข้ วิชาชีพกฎหมาย(ค่าว่าความของทนายความ) ค่าที่ปรึกษาทางวิศวกร ค่าออกแบบของสถาปนิก ค่ารับจ้างทำบัญชี (ไม่รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น การรับจ้างจดทะเบียนต่างๆ) หรือค่าสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร ค่าจ้างของผู้รับจ้างทำงานประณีตศิลป์ เช่น ช่างวาด ช่างปั้น ช่างหล่อ เป็นต้น
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง
เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40(1) ถึง (7) รวมทั้งการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรด้วย อาทิ การขายสินค้าที่ผู้ขายไม่ได้เป็นผู้ผลิต รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมทั้งค่ารักษาสัตว์ของสัตวแพทย์ ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลปตามมาตรา 40(6) หรือ “นักแสดงสาธารณะ” ที่กินความไปถึง นักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ หรือนักกีฬาอาชีพ อาทิ นักฟุตบอลอาชีพ นักแบดมินตันอาชีพ นักมวยสากลอาชีพ เป็นต้น
มึนขึ้นกว่าเดิมกันมั้ยคะ (>_<)
วันนี้พอแค่นี้ก่อนดีกว่า …. หวังว่าผู้อ่าน/ ผู้แอบอ่านทุกท่าน คงพอจะเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไม่มากก็น้อยกันนะคะ ว่าใครมีหน้าที่ที่ต้องเสียบ้าง และเสียจากเงินได้ประเภทใด รวมถึงช่วงเวลาการยื่นแบบและนำส่งภาษี คราวหน้าทางสำนักงานจะมานำเสนอการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีต่อค๊า โปรดติดตามตอนต่อไป (to be continued….)