จากบทความก่อนหน้า ได้กล่าวถึงรูปแบบขององค์กรธุรกิจกันไปแล้ว ในบทความนี้จะพูดถึงข้อดี-ข้อเสียของกิจการแต่ละประเภทกันนะค๊า

 

กิจการเจ้าของคนเดียว

 ข้อดี

  1. เจ้าของมีอำนาจในการตัดสินใจเต็มที่
  2. ผลกำไรจากการทำธุรกิจ เจ้าของได้รับโดยตรงซึ่งอาจจะนำไปลงทุนเพิ่มได้เองตามความต้องการ
  3. ตัดสินใจเลิกกิจการได้ง่าย หากเห็นว่ากิจการมีแนวโน้มที่จะขาดทุน
  4. ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารต่ำ
  5. ข้อบังคับทางกฎหมายน้อย

ข้อเสีย

  1. ปริมาณเงินลงทุนมีจำกัดจากเงินลงทุนส่วนตัวของเจ้าของหรือการหยิบยืมจากคนรู้จัก
  2. ความรับผิดชอบต่อหนี้สินของกิจการ เจ้าหนี้สามารถตามยึดทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของกิจการได้ แม้มิใช่ทรัพย์สินที่ลงทุนในกิจการ
  3. กิจการมีอายุจำกัด โดยจะคงอยู่เมื่อเจ้าของยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเจ้าของเสียชีวิต ทรัพย์สินของกิจการก็จะถูกรวมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของกิจการและส่งมอบให้แก่ทายาทผู้สืบทอดมรดก ซึ่งทายาทอาจไม่ดำเนินกิจการต่อ
  4. ไม่สามารถระดมทุนจากภายนอกได้เต็มที่ นอกจากการใช้เครดิตส่วนตัวของเจ้าของเท่านั้น
  5. ขาดความน่าเชื่อถือของกิจการ

 

ห้างหุ้นส่วน

 ข้อดี

  1. มีแหล่งเงินทุนมากกว่ากิจการเจ้าของคนเดียว
  2. สามารถใช้ความสามารถในการบริหารโดยระดมสมองร่วมกันตัดสินใจบริหารงาน
  3. การเสี่ยงน้อยลง เพราะมีผู้ร่วมเฉลี่ยภาระการเสี่ยง
  4. การจัดตั้งไม่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกิจการต่ำ
  5. เลิกกิจการได้ง่าย

 ข้อเสีย

  1. มีการระดมทุนในวงจำกัดเฉพาะจากผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น
  2. กำไรถูกแบ่งเฉพาะหุ้นส่วน
  3. การตัดสินใจอาจล่าช้า เพราะความคิดเห็นขัดแย้งกันในบางกรณี
  4. มีอายุจำกัด ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของห้างหุ้นส่วนแต่ละแห่ง ถ้ามิได้ระบุเป็นอย่างอื่น ความเป็นห้างจะสิ้นสุดลงเมื่อหุ้นส่วนถอนตัว หรือมีหุ้นส่วนคนใดเสียชีวิตลง
  5. การไม่จำกัดความรับผิดชอบของหุ้นส่วน ทำให้อาจไม่กล้าเสี่ยงขยายกิจการ

บริษัทจำกัด

ข้อดี

  1. ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทเพียงเท่ากับเงินลงทุนที่สัญญาจะลงทุนตามมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบ (ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดชอบเพียงมูลค่าที่ตนยังค้างชำระเท่านั้น)
  2. เจ้าหนี้ไม่สามารถไปยึดทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ถือหุ้นได้
  3. ผู้ถือหุ้นสามารถขายหรือโอนหุ้นให้กับผู้อื่นได้
  4. กรณีผู้ถือหุ้นตาย ล้มละลาย หรือศาลสั่งให้ออกจากผู้ถือหุ้น บริษัทก็ยังดำเนินกิจการต่อไปได้
  5. มีความน่าเชื่อถือกว่ากิจการเจ้าของคนเดียว หรือห้างหุ้นส่วน

 ข้อเสีย

  1. ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก
  2. ค่าใช้จ่ายในการบริหารสูง
  3. การเลิกกิจการทำได้ยาก ต้องมีการชำระบัญชีและจัดการให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย
  4. ข้อมูลสามารถรับรู้ได้โดยง่าย เนื่องจากต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนอกทราบจึงไม่อาจรักษาความลับได้
  5. ในการดำเนินการของบริษัทจำกัด มีทั้งผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทและพนักงาน ดังนั้นในการปฏิบัติงานอาจจะมีบางส่วนที่ขาดความตั้งใจในการทำงานเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการเอง

 

เมื่อทราบข้อดี-ข้อเสียของกิจการแต่ละประเภทแล้ว ผู้ประกอบการคงต้องตัดสินใจเลือกรูปแบบการทำธุรกิจตามประเภทของธุรกิจที่จะดำเนินการ ขนาด เงินลงทุน การบริหารจัดการ ข้อบังคับตามกฎหมายและภาษี รวมถึงการขยายธุรกิจหรือยกเลิกธุรกิจกันนะคะ

จัดกันมาอย่างต่อเนื่อง …. วันนี้จะมานำเสนอรูปแบบขององค์กรธุรกิจ (^_^)

ผู้ประกอบการจะจัดตั้งกิจการประเภทใดนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่ากิจการรูปแบบใดจะเหมาะกับธุรกิจที่กำลังจะทำ รวมถึงการพิจารณาปัจจัยด้านเงินทุน หุ้นส่วน ผลตอบแทน การเสียภาษีที่แตกต่างกันในแต่ละลักษณะของการจัดตั้ง และโอกาสทางธุรกิจว่ามีความสามารถในการขยายตัวทางธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังรวมถึงความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะรับได้หากเกิดข้อผิดพลาดหรือหนี้สินจากการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดตั้งกิจการขึ้นแล้ว ในภายหน้าผู้ประกอบการอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดตั้งได้ แต่อาจมีความยุ่งยากในการเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปรูปแบบขององค์กรธุรกิจมักมีดังนี้

  1. กิจการเจ้าของคนเดียวเป็นรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมซึ่งพบเห็นโดยทั่วไปมากที่สุด เช่น ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านขายอาหาร เป็นต้น เป็นกิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของหรือลงทุนคนเดียว ควบคุมการดำเนินงานเองทั้งหมด เมื่อกิจการประสบผลสำเร็จมีผลกำไร ก็จะได้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียว ในขณะเดียวกันก็ยอมรับการเสี่ยงภัยจากการขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน ดังนั้นเจ้าของกิจการและธุรกิจก็ถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งในแง่ภาษีและความรับผิดชอบทางกฎหมาย เจ้าของจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยื่นแบบแสดงรายรับและค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์เงินสด
  2. ห้างหุ้นส่วนเป็นกิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจประเภทนี้สืบต่อมาจากธุรกิจเจ้าของคนเดียว เมื่อกิจการดำเนินงานก้าวหน้าขึ้น ต้องการเงินทุนและการจัดการเพิ่มขึ้น จึงต้องหาบุคคลที่ไว้วางใจได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน

ส่วนใหญ่กิจการห้างหุ้นส่วนในประเทศไทยมี 2 ประเภทคือ

  1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

 

กิจการทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันในส่วนของอำนาจและความรับผิดชอบของหุ้นส่วนกล่าวคือ

ห้างหุ้นส่วนสามัญ

มีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียว คือ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด ห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนจะเรียกว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

หุ้นส่วนจะมี 2 ประเภทคือ

  • หุ้นส่วนผู้จัดการ มีอำนาจในการบริหารและรับผิดชอบต่อหนี้สินอย่างไม่จำกัด
  • หุ้นส่วนจำกัด ไม่มีอำนาจในการบริหารและรับผิดชอบต่อหนี้สินเพียงเท่าที่ลงทุน

 

เมื่อจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว ห้างหุ้นส่วนจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน

  1. บริษัทจำกัด

การจัดตั้งบริษัทจำกัดจะต้องมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ร่วมกันจัดตั้งบริษัทโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บริษัทจำกัดเป็นกิจการที่มีการดำเนินการแพร่หลายในประเทศไทย ผู้ถือหุ้นแต่ละคนรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทเฉพาะเท่าที่ลงทุนในกิจการ เจ้าหนี้ไม่สามารถตามไปยึดทรัพย์ของผู้ถือหุ้นได้ นอกจากนี้กิจการจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้มีอำนาจในการบริหารงาน ผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจไม่สามารถเข้ามาบริหารกิจการได้ แต่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและสอบถามความก้าวหน้าของกิจการได้ รวมทั้งมีสิทธิเสนอเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจได้

  1. บริษัทมหาชนจำกัด

มีโครงสร้างเหมือนกับบริษัทจำกัด คือ มีผู้ลงทุน เรียกว่า ผู้ถือหุ้น รับผิดชอบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังไม่ชำระ มีคณะกรรมการเป็นผู้บริหาร แต่ต้องมีกลุ่มผู้ก่อการเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป และมีกรรมการตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

 

โดยบริษัทมหาชนนั้นเป็นกิจการที่ต้องมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการระดมทุนจากภายนอกทั้งจากการขายหุ้นหรือการออกหุ้นกู้หรือเอกสารตราสารต่างๆ

140609_รูปแบบขององค์กรธุรกิจ

 

อ้างอิง : คู่มือผู้ประกอบการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ จากการชักชวนแกมบังคับของเจ้าของเว็บที่ งานยุ่งตลอดเวลาให้มาช่วยเขียนเรื่องราวเล่าประสบการณ์จากการทำงาน วันนี้ก็ได้เวลาประเดิมกับบล็อกแรกของ  JCT.D Audit Office ชอบไม่ชอบอย่างไร มีข้อสงสัยตรงไหนถามมาได้เลยนะคะ … เริ่มกันเลยดีกว่า

การจดจัดตั้งบริษัทนั้นสามารถทำได้ด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

  1. จองชื่อบริษัทเราสามารถจองได้ด้วยตัวเองฟรี ที่เว็บไซต์ www.dbd.go.th เข้าไปที่ “บริการออนไลน์”  >>  “จองชื่อ/จดทะเบียนนิติบุคคล

**ช้าก่อน…ก่อนจะจองชื่อบริษัทได้นั้น เราต้องสมัครเป็นสมาชิกกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ก่อนนะคะ

จากนั้นเข้าไปตรวจสอบชื่อ โดยให้ตรวจสอบทั้งพ้องรูป (เขียนเหมือน) และพ้องเสียง (ออกเสียงเหมือน) ในกรณีที่ชื่อนั้นเหมือนหรือมีเสียงเรียกขาน ตรงกัน ถือว่าเป็นชื่อที่ซ้ำ

เมื่อได้ชื่อแล้ว ต้องดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทภายใน 1 เดือนนับแต่วันจองชื่อนิติบุคคล

 

  1. เตรียมเอกสารการจัดตั้งบริษัท
    1. เข้าไปที่ “จดทะเบียนนิติบุคคล” >> ด้านซ้ายมือจะมีข้อความให้เลือกว่าเราต้องการจดจัดตั้งนิติบุคคลแบบใด (จดจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หรือ จดจัดตั้งบริษัท) >> กรอกข้อมูลตามแบบที่เลือก

      สำหรับการจัดตั้งบริษัทนั้นต้องแต่งตั้งผู้สอบบัญชี (ไม่แต่งตั้งไม่ได้ แต่สามารถแต่งตั้งชั่วคราว เพื่อจดทะเบียนบริษัทได้)
      … หากยังไม่มีผู้สอบบัญชีติดต่อที่สำนักงานสอบบัญชีเจซีที.ดี ได้นะคะ ^^

      ****** เข้าไปเยี่ยมชม Facebook Fanpage ได้ที่ www.facebook.com/JCT.D.AuditOffice ******

    2. ทำตราประทับของบริษัท (อ่านหลักเกณฑ์การจัดทำตราของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ได้ที่                                 http://www.dbd.go.th/mainsite/fileadmin/downloads/03_boj/detail5_intro6.pdf)
    3. แนบเอกสารหลักฐานสำคัญ เช่น ใบจองชื่อนิติบุคคล สำเนาบัตรประชาชนผู้ก่อตั้ง แผนที่ตั้งบริษัท เป็นต้น จากนั้นให้ผู้ก่อตั้งทุกคนเซ็นต์ชื่อลงนามในเอกสาร  และประทับตราสำคัญของบริษัท
  1. ยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัท ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พอจดจัดตั้งเสร็จเรียบร้อย ก็จะได้ “คู่มือสิ่งที่ต้องรู้และทำเมื่อเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด”

140604_ขั้นตอนการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทด้วยตนเอง

 

เห็นไหมคะว่าการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทนั้นง่ายจริงๆ (^_^)