ช่วงนี้ใกล้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีแล้วนะคะ (แบบภงด.94) มีหลายคนสอบถามกันเข้ามาเกี่ยวกับการยื่นภาษี วันนี้ทางสำนักงานเลยจะมาบอกเกี่ยวกับแบบนำส่งภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อนค่ะ

แบบนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้

  1. ภ.ง.ด.94 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)-(8) ต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของงวด ม.ค.-มิ.ย. ภายในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน (เป็นการเสียภาษีครึ่งปี สำหรับคนไม่มีเงินเดือน แต่มีรายได้อย่างอื่น เช่น ค่าเช่า ขายที่ดินได้)
  2. ภ.ง.ด.91 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภท “เงินเดือน” อย่างเดียวให้ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของทั้งปี (ครั้งเดียว) ภายในเดือน มี.ค.ของปีถัดไป
  3. ภ.ง.ด.90 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่มิใช่เงินเดือน หรือมีเงินได้ 2 ประเภท ขึ้นไป (สำหรับคนมีเงินเดือนและมีรายได้อื่นด้วย เช่น ค่าเช่า ขายที่ดินได้ ประกอบวิชาชีพอิสระ เป็นต้น)

วันนี้จัดแบบเบาๆก่อนนะคะ พรุ่งนี้จะมาพูดถึงประเภทของเงินได้พีงประเมินกันค่ะ ^^

#ภาษีครึ่งปี #ภงด94 #ภงด90 #ภงด91 #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา#Seriesภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2558

ใกล้ถึงวันสุดท้ายของการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี(ภงด.51)แล้วนะคะ … กำหนดนำส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มต้น 1 ม.ค สิ้นสุด 31 ธ.ค

ปีนี้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก(ทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท) มีเฮ เพราะหากมีกำไรสุทธิตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษี 15% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วที่เสียในอัตรา 20%

150819_ภงด.นิติบุคคลปี 2558(แก้ไข)

ว่าแล้วก็อย่าลืมนำส่งแบบภงด.51 โดยใช้เรทอัตราภาษีใหม่กันด้วยนะคะ  เดี๋ยวจะหาว่าแอดมินไม่เตือน (^_^)

มาแล้ววววค๊า สำหรับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี  มีวิธีการคิดคำนวณง่ายๆ 2 วิธี ดังนี้ค่ะ

 

วิธีที่1 คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ โดยให้ผู้เสียภาษีนำเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5) – (8) ที่ได้รับตั้งแต่เดือนม.ค ถึง มิ.ย. ในปีภาษีนั้น มาหักออกด้วยค่าใช้จ่าย* และค่าลดหย่อน** เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ แล้วให้คำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกได้รับยกเว้นตามพ.ร.ฎ.(ฉบับที่470) พ.ศ. 2551

โปรโมชั่นลดแลกแจกแถม!! ยกเว้นเงินได้สำหรับ คนพิการที่มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์  รวมไปถึงสว. เอ้ย ผู้มีเงินได้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในปีภาษี และเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท

* ค่าใช้จ่าย สามารถหักได้จริงตามความจำเป็นและสมควร หรือ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ตามเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท อาทิ ให้เช่าบ้าน โรงเรือน สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 30 หรือหากทำกิจการโรงสีข้าว สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ถึงในอัตราร้อยละ 85 เป็นต้น

** ตัวอย่างรายการลดหย่อนต่างๆ เช่น

– ผู้มีเงินได้ สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป หักค่าลดหย่อนได้ 15,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของการเสียภาษีสิ้นปี)

– ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีเกิน 30,000 บาท สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้คนละ 15,000 บาท หากบุตรหลายคนรับอุปการะบิดามารดา ให้บุตรที่มีแบบ ล.ย.03 เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

– เงินสมทบประกันสังคม หักได้ตามที่จ่ายจริง ตั้งแต่ม.ค –มิ.ย ในปีภาษี เป็นต้น

 

วิธีที่2 คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน หากผู้เสียภาษีมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ให้นำเงินได้พึงประเมินไปคูณด้วย 0.005 (0.5%)

แม้จะมีวิธีการคำนวณ 2 วิธี แต่ไม่ใช่จะเลือกเสียจากวิธีไหนก็ได้นะคะ ผู้เสียภาษีต้องชำระภาษีจากยอดที่มากกว่า  … ซะงั้นอะ (T_T)  เว้นแต่คำนวณภาษีวิธีที่2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้ชำระภาษีจากวิธีที่1

140916_การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี(ภงด.94)

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ

 

นางสาวจิ๊ฟฟี่ เป็นสาวโสด สวย และรวยมาก มีรายได้ค่าเช่าบ้าน เดือนละ 50,000 บาท และยังได้อุปการะเลี้ยงดูบิดาที่มีอายุ 61 ปี นอกจากจะสวยแล้วยังใจบุญบริจาคเงินช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อคนพิการในเดือนมี.ค จำนวน 5,000 บาท

 

สามารถคำนวณการเสียภาษีภงด.94 ได้ดังนี้

วิธีที่1
เงินได้ค่าเช่าบ้าน ม.ค – มิ.ย. (50,000*6)                300,000 บาท
หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา 30%  (300,000*30%)   (90,000) บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว                                           (15,000) บาท
หักอุปการะเลี้ยงดูบิดา (อายุ 61 ปี)                          (15,000)  บาท
หักเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง                                    (5,000)  บาท
เงินได้สุทธิก่อนเสียภาษี                                          175,000  บาท

ต้องเสียภาษีดังนี้

เงินได้ 150,000 บาทแรก ยกเว้นภาษี และที่เหลือ 25,000 บาท (ที่เกินจาก 150,000 บาท) อยู่ในช่วงอัตราภาษี 5%  เท่ากับว่าต้องเสียภาษี 1,250 บาท

 

วิธีที่2
คำนวณภาษีจาก 300,000 * 0.005 = 1,500 บาท

 

สรุป นางสาวจิ๊ฟฟี่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีจำนวน 1,250 บาท (ดูปากจิ๊ฟฟี่นะคะ หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน)

 

อ้าว งงกันหละสิ ….ก็วิธีที่ 2 เสียภาษีมากกว่า ไหงเสียภาษีวิธีที่ 1 … แท่น แทน แท๊น …ก็วิธีที่ 2 ยอดภาษีน้อยกว่า 5,000 บาท นางสาวจิ๊ฟฟี่เลยต้องไปเสียตามวิธีที่ 1 แทนค๊า

 

สามารถอ่านวิธีกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี(ภงด.94) ปีภาษี 2557 แบบละเอียดยิบๆ ได้ที่นี่

http://www.rd.go.th/fileadmin/tax_pdf/pit/Ins942557_020757.pdf

 

ขอบพระคุณที่ติดตามมาถึงตรงนี้กันนะคะ หวังว่าบทความนี้คงจะช่วย ให้เข้าใจการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมากขึ้น พบกันใหม่บทความหน้าค๊า  (^_^)

เข้าฤดูน้ำหลาก เอ้ย ไม่ใช่ … โค้งสุดท้ายของการยื่นแบบและนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีกันแล้ว (หมดเขตการนำส่งวันที่ 30 กันยายน 2557 นี้นะคะ) มีหลายคนยัง งง และ สงสัย ว่า อะไรคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือศัพท์ในวงการ(วงการไหน?) เรียกว่า ภงด. 94 ว่าต้องยื่นด้วยมั้ย เพราะที่ยื่นสิ้นปี(ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี) ก็ปวดหัวพอแล้ว ยังจะมายื่นอะไร ครึ่งปง ครึ่งปีกันอีก

วันนี้ทางสำนักงานเลยจะมาไขข้อข้องใจ ว่า อะไรคือภงด.94 กันค๊า

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีหรือเรียกกันสั้นๆว่า ภงด.94 เป็นภาษีที่เสียก่อนถึงกำหนดเวลาเสียภาษีสิ้นปี โดยมีกำหนดเวลาในการยื่นแบบภายในเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีภาษีนั้น ซึ่งคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง 40(8) ตามเกณฑ์เงินสดในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนในปีภาษีนั้น นั่นแสดงว่าถ้าเราไม่ได้รับเงินได้ 40(5) – (8) ในช่วงครึ่งปีแรกก็ไม่เกี่ยวกับภงด.94 แล้ว (สบายใจได้)
แต่ช้าก่อน สรรพากรยังใจดีให้อีก หากมีเงินได้ดังกล่าวข้างต้นไม่ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้ก็ไม่ต้องยื่นภงด.94 เช่นกัน 

1. ผู้ที่เป็นโสด ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท

2. ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสอง ฝ่ายรวมกันเกินกว่า 60,000 บาท

พูดง่ายๆก็คือ หากมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง 40(8) ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ได้รับไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีนะคะ นอกจากนี้ ภาษีที่เราได้เสียไปครึ่งปีแล้วก็ยังไม่เสียเปล่า หากเรายื่นเสียภาษีสิ้นปี ก็ยังนำภาษีครึ่งปีนี้ ไปเป็น เครดิตภาษี หัก ออกจากภาษีสิ้นปีได้อีกด้วย

140911_ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภงด.94

แล้วอะไรคือเงินได้ 40(5) – (8)??

ประเภทของเงินได้ที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน อาทิ การให้เช่าที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น เงินได้จากการประกอบโรคศิลปหรือแพทย์รักษาคนไข้ วิชาชีพกฎหมาย(ค่าว่าความของทนายความ) ค่าที่ปรึกษาทางวิศวกร ค่าออกแบบของสถาปนิก ค่ารับจ้างทำบัญชี (ไม่รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น การรับจ้างจดทะเบียนต่างๆ) หรือค่าสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร ค่าจ้างของผู้รับจ้างทำงานประณีตศิลป์ เช่น ช่างวาด ช่างปั้น ช่างหล่อ เป็นต้น 

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40(1) ถึง (7) รวมทั้งการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรด้วย อาทิ การขายสินค้าที่ผู้ขายไม่ได้เป็นผู้ผลิต รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมทั้งค่ารักษาสัตว์ของสัตวแพทย์ ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลปตามมาตรา 40(6) หรือ “นักแสดงสาธารณะ” ที่กินความไปถึง นักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ หรือนักกีฬาอาชีพ อาทิ นักฟุตบอลอาชีพ นักแบดมินตันอาชีพ นักมวยสากลอาชีพ เป็นต้น

มึนขึ้นกว่าเดิมกันมั้ยคะ (>_<)

วันนี้พอแค่นี้ก่อนดีกว่า …. หวังว่าผู้อ่าน/ ผู้แอบอ่านทุกท่าน คงพอจะเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไม่มากก็น้อยกันนะคะ ว่าใครมีหน้าที่ที่ต้องเสียบ้าง และเสียจากเงินได้ประเภทใด รวมถึงช่วงเวลาการยื่นแบบและนำส่งภาษี คราวหน้าทางสำนักงานจะมานำเสนอการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีต่อค๊า โปรดติดตามตอนต่อไป (to be continued….)