ช่วงนี้ใกล้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีแล้วนะคะ (แบบภงด.94) มีหลายคนสอบถามกันเข้ามาเกี่ยวกับการยื่นภาษี วันนี้ทางสำนักงานเลยจะมาบอกเกี่ยวกับแบบนำส่งภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อนค่ะ

แบบนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้

  1. ภ.ง.ด.94 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)-(8) ต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของงวด ม.ค.-มิ.ย. ภายในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน (เป็นการเสียภาษีครึ่งปี สำหรับคนไม่มีเงินเดือน แต่มีรายได้อย่างอื่น เช่น ค่าเช่า ขายที่ดินได้)
  2. ภ.ง.ด.91 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภท “เงินเดือน” อย่างเดียวให้ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของทั้งปี (ครั้งเดียว) ภายในเดือน มี.ค.ของปีถัดไป
  3. ภ.ง.ด.90 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่มิใช่เงินเดือน หรือมีเงินได้ 2 ประเภท ขึ้นไป (สำหรับคนมีเงินเดือนและมีรายได้อื่นด้วย เช่น ค่าเช่า ขายที่ดินได้ ประกอบวิชาชีพอิสระ เป็นต้น)

วันนี้จัดแบบเบาๆก่อนนะคะ พรุ่งนี้จะมาพูดถึงประเภทของเงินได้พีงประเมินกันค่ะ ^^

#ภาษีครึ่งปี #ภงด94 #ภงด90 #ภงด91 #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา#Seriesภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

หากไม่นับว่าเคยพยายามใช้ R มาวิเคราะห์ข้อมูลทำ Thesis และพับเก็บเข้ากล่องไปด้วยความสงสัยบางอย่าง (แล้วย้ายไป SPSS แทน) สองสามปีผ่านไปไวหยั่งกับโกหก วันนี้ (วันที่เขียน) ได้ไปนั่งเรียน Exploratory Data Analysis and Statistical Graphic for Business Analytics Using R Commander มาเพราะขี้เกียจ ไม่มีเวลาหาอ่านเองและอยากไปถามข้อข้องใจบางอย่าง รวมถึงด้วยความหน้าสนใจ ของ R ที่ “ฟรี” และ “Open-Source” และ ตอนนี้คนทั้งโลกหันมาใช้และพัฒนาต่อยอด รวมถึง Microsoft ก็มาร่วมวงกับเค้าด้วย เลยคิดว่าเขียนไว้ดีกว่าเพราะ “อาจจะ” มีประโยชน์

 

ก่อนเริ่ม

Blog นี้ “อาจจะ” เหมาะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับ

  • คนสนใจ R
  • นักเรียน อาจารย์ ที่เรียน สอน สถิติ ที่ยังไม่เคยใช้ R มาก่อน และไม่อยากเสียเงินให้ SPSS แล้ว
  • Programmer ที่ทำงานบน VS.NET แล้วสนใจ R

ปล.  ที่บอกว่า “อาจจะ” ถึงสองครั้ง เพราะคนเขียนก็มือใหม่ ฮิๆๆ

 

Rlogo

Continue reading

ลัดคิวก่อนไปต่อ ญี่ปุ่น มั่วๆ ตอน 2 พอดีว่าวันนี้ได้โอกาส หลังจากเล็งมานาน และที่สำคัญมีคน (เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ผมเอง) ยังไม่รู้จักเยอะมาก เลยช่วยประชามสัมพันธ์ให้คนไปมากๆหน่อย แฮร่…

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ” ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

เหล่าไดโนเสาร์ภายนอก

จริงๆ แล้ว สำหรับพิพิธภัณฑ์นี้ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับ “ธรณีวิทยา” ที่ว่ากันด้วย การกำเนิดโลก ยุคต่างๆ วิวัฒนาการของโลก รวมไปถึง แร่ธาตุ ต่างๆ โดยมี Gimmick คือ ไดโนเสาร์ ที่เป็นตัวชูโรงทำให้น้องๆ หนูๆ สนใจเข้ามาเรียนรู้กัน มากขึ้น โดยเฉพาะ มีเรื่องเกี่ยวกับ ไดโนเสาร์ สายพันธุ์ไทย อย่าง ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรนี, สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส เป็นต้น

สำหรับสิ่งที่นำเสนอผมว่าดีพอควร เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ แต่ถามว่าสุดหรือยัง อาจจะยังไม่สุดนะ แต่ก็ไม่แน่ว่าอีกหน่อยจะดีกว่านี้ถ้าได้รับความนิยม เผื่อว่าจะมีงบมาลงเพิ่มเติม (อันนี้ก็ภาวนาขอให้เป็นจริง จะดีมากๆเลย)

ภายในอาคารจัดแสดง
ถ้าใครยังไม่เคยมา อยากให้ลองแวะมาครับ บัตรเข้าชมราคา 30 บาท เท่านั้น และยังมีส่วนลดอื่นๆ สำหรับเด็กและผู้สูงอายุด้วย รายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  http://ngm.in.th/  ซึ่งมีรายละเอียดครบถ้วน รวมไปถึงสามารถเข้าชมแบบ virtual 360 ได้ด้วย ส่วนถ้ามาแล้ว อยากให้แวะ ไปที่ ท้องฟ้าจำลอง รังสิต และ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (อาคารลูกเต๋าสองลูก) ด้วยทีเดียวเลย

วิธีเดินทาง ตาม Google Map ที่ลิงค์นี้ครับ https://goo.gl/maps/sy4RTJDaXYw

หลังจากปล่อยให้ blog เกี่ยวกับภาษียึดครองมานาน ได้เวลากลับมาอัพเดทซะหน่อย สืบเนื่องมาจากว่า เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้ไปปล่อยชีวิตให้ล่องลอยในญี่ปุ่นคนเดียว อยู่อาทิตย์นึง และได้ไปที่ๆ คิดว่าคนไทยไม่ค่อยไป (มั๊ง) แต่น่าสนใจ เลยเอามาเล่าให้ฟังเผื่อว่าจะสนใจไปกันนะครับ

การเตรียมตัวเที่ยวคนเดียวแบบไม่เตรียมตัว (งงมั๊ย?)

จริงๆแล้วการเตรียมตัวเที่ยวญี่ปุ่นสามารถหาอ่านได้ทั่วไปเลยครับ แต่เตรียมตัวมากไม่ลุ้น บางทีการได้ไปมั่วๆ บ้างก็สนุกดี แต่สิ่งที่อยากจะแชร์คือการไปญี่ปุ่นไม่ยากอย่างที่คิด อ่านภาษาอังกฤษออกนิดหน่อยเอาไว้ดูป้าย กับใช้ google map ก็พอแล้ว (หรือถ้าใครความจำดี นี่สบายเลย)  เพราะ ไปทริปนี้ เรียกว่า ทริปใบ้ เพราะถึงพูดภาษาอังกฤษไป เราก็จะได้ฟังภาษาญี่ปุ่นกลับมา เย่…

อย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าคิดจะไม่เตรียมตัวเลย สิ่งที่ควรมีติดตัวคือ

Smartphone + Internet + แบตสำรอง
ข้อนี้จำเป็นมาเพราะ ต้องใช้ Google Map หาข้อมูลของสถานที่ ๆ จะไปหรือเส้นทางการเดินทางไว้บ้าง หรือ ใช้ Google Translate บ้าง (ในกรณีต้องคุยกับคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้จริงๆ) รวมไปถึง ใช้เว็บ Hyperdia.com ในการดูตารางรถไฟ ตอนแรกก็พยายามลง app แต่ลงไม่ได้เพราะต้องเปลี่ยน store ก่อน ซึ่งถ้าเปลี่ยนแล้วมันจะกลายเป็นภาษาญี่ปุ่นหรือเปล่าก็ไม่รู้ (เลยไม่กล้าเปลี่ยน กลัวจะงานเข้า) ตอนไปก็มีหลายเว็บให้สั่งแต่ตอนไป สั่งของ bmobile ซึ่งเป็น visitor sim จากเว็บแล้วให้ไปส่งที่ไปรษณีที่สนามบินเลย สั่งจากที่นี่ ใช้ได้ไม่จำกัดแต่ ถ้าเกิดใช้เกินวันละ 1 GB เกินสามวันติดต่อกัน เค้าจะตัดการใช้งานนะ

ซองจดหมายส่งถึงตัวเอง

JR Pass + IC Card + เงินสดนิดหน่อย
จริงๆแล้ว JR Pass ก็มีหลายรูปแบบ เรียกว่าเป็นบัตรเบ่งในการขึ้นรถไฟเลย ถ้ามีก็สบาย อยากจะโดดขึ้น โดดลง ยังไงก็ได้ ไม่ต้องมาเสียเวลา ซึ่งจริงๆ ถ้ารู้ตัวว่าจะเที่ยวโซนไหน (คือทำการบ้านไปนิดนึง) ก็จะประหยัดขึ้นเยอะเพราะจะมี JR ให้เลือกหลายแบบมาก ตามเว็บนี้เลย แต่ ด้วยความไม่เตรียมตัว และรู้ว่าต้องขึ้น Shinkansen ก็เลยจัด JR ตัวใหญ่มาเลย ซึ่งการซื้อต้องซื้อ voucher ที่เมืองไทย (เพราะมันเป็นสำหรับนักท่องเที่ยวเท่านั้น เลยไม่มีขายที่ ญี่ปุ่น) แล้วเอาไปแลก JR Pass ตัวจริงตอนที่ไปถึงญี่ปุ่นอีกทีนึง)
JR Pass หน้าตาก็เป็นแบบนี้

JR Pass จะมีระบบวันที่ใช้วันแรกกับใช้วันสุดท้ายตัวโตๆ รวมไปถึงการจอง Shinkansen ต่างๆ

IC Card เป็นบัตรเงินสดที่มีหลากหลายมากๆ แต่หลัก ที่คนไทยใช้กันจะมี Suica (ถ้าซื้อจาก Tokyo) กับ ICOCA (ถ้าซื้อที่ โอซาก้า) มีรายละเอียดที่เว็บนี้ เอาไว้เวลาบัตรเบ่ง JR Pass เราใช้ไม่ได้ เช่น รถไฟใต้ดินเอกชน ร้านสะดวกซื้อต่างๆ หรือแม้กระทั่งตู้กดน้ำ  ทำให้เราไม่ต้องประสบปัญหาในการพกเหรียญ และทอนเงิน แตะปุ๊บ ตัดปั๊บ สบายใจ


IC Card ซื้อที่ Osaka
อันนี้เป็น ICOCA เพราะซื้อที่ Osaka นั่นเอง


เงินสด ควรจะมีบ้างเพราะในบางที่ ตู้กดน้ำไม่รับ IC Card ก็ต้องหยอดเหรียญหรือแบงค์ หรือร้านอาหารก็ต้องใช้เงินสด (ยกเว้นร้านใหญ่ๆ อาจจะรับบัตรเครดิต) แต่อย่าลืม เราไม่ได้เตรียมตัวไป แล้วอยากเข้าไปกินร้านไหนก็เข้าไปดังนั้น มีไว้ก็อุ่นใจ อ่อ เคล็ดลับถ้ากลัวเหรียญ (บางที่จะมีเหรียญ 1, 5, 10 yen เยอะมาก) แนะนำว่าอย่ารีบกำจัดมัน ให้สะสมให้ได้ร้อยกว่าเยนแล้วเอาไปจ่ายที่ร้านสะดวกซื้อทีเดียว เพราะทุกๆ ครั้งที่เราเอา เหรียญไปใช้ถ้าไม่พอดี เราจะได้เหรียญกลับมาเพิ่ม การแลกเงินถ้าไม่คิดมาก แลกที่ไหนก็ได้ เพราะต่างไม่เยอะ (ยกเว้นแลกเป็นแสนบาท ก็อาจจะเยอะ) บางทีมาแลกที่ญี่ปุ่น ที่สนามบินได้เรทดีกว่า  ถ้ากลัวพลาดควรมี US Dollar พกไว้บ้างถ้าหากจะมาลุ้นแลกที่ฝั่งญี่ปุ่น

ที่ซุกหัวนอน
อันนี้แล้วแต่ ตอนแรกก็จะไม่จองเหมือนกัน แต่คุณเพื่อนที่ทราบว่าเราจะเดินทางบอกว่า จองหน่อยเหอะก็เลยจองผ่าน Agoda.com ไปส่วนใหญ่จะจองแบบไม่มีข้าวเช้า (ถ้ามันถูกกว่า)  เพราะอะไรหนะเหรอ ขี้เกียจตื่นนั่นเอง แต่เนื่องจากทริปนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มาญี่ปุ่นคนเดียว เลยคิดว่า งั้นจองดีๆ ละกันเพราะ มาพักผ่อน เรื่องนอนดี อาบน้ำสบายต้องมี และแน่นอน จะดีมากถ้ามี WIFI และ TV ด้วย ที่พักที่พักคราวนี้คือ The Tokyo Dome, APA Villa Hotel, Mecure Narita ไปพักหนิหน่า เน้นสบายไว้ก่อนฮิๆ

ยารักษาโรค
อันนี้สำคัญนะ (แต่เอามาใส่ข้อสี่ ฮ่าๆ)  มันไม่เปลืองที่มากหรอก ยาดมแก้วิงเวียน แก้ปวดหนึ่งแผง แก้หวัด แก้ไข้ หนึ่งแผง แก้ปวดเมื่อยแบบสเปรย์ คือเพราะไปคนเดียวการรักษาตัวเองเบื้องต้น ส่วนที่บอกว่าให้ใช้ สเปรย์ฉีดแก้ปวดเมื่อยเพราะว่าสะดวกดี มือไม่เปื้อนดี และแห้งเร็วไม่เหนียวเหนอะหนะ ส่วนตัวใช้ Perskindol ขวดเหลือง (แบบร้อน) เคยลองสีฟ้าแล้วมันเย็นไป (ญี่ปุ่นมันหนาวอยู่แล้ว) และรู้สึกว่า มันฉีดแรงกว่าด้วยเจ็บเนื้อ

รองเท้าผ้าใบกับใจถึง ๆ
เตรียมตัวหลงเลย หรือบางที เดินไกลจนคิดว่าหลง หรือ บางที่ที่ต้องเดินไปมันเงียบ… มาก… ซึ่งอาจจะเป็นเพราะมันไม่ใช่ที่ ที่คนอื่นไปในเวลานั้น อะไรแบบนี้ คือไม่เตรียมตัวไง ก็อาจจะได้ไปในที่ ที่คนอื่นเค้าไม่ไปกัน รวมไปถึง google map ก็อาจจะพาเรางงๆ ในบางวันที่เมฆเยอะๆ ฟ้าครึ้มๆ

ก็ประมาณนี้ครับ สำหรับการเตรียมตัวเที่ยวแบบไม่เตรียมตัว ในตอนต่อไปมาดูดีกว่าว่าไปไหนมาและกินที่ไหนบ้าง น่าจะอัพเดทตามนี้แหละ

  • Railway Museum, Onari, Saitama
  • Ikeda Castle, Ikeda, Osaka
  • The Instant Ramen Museum, Ikeda, Osaka
  • Koamijinja Shrine, Chuo, Tokyo
  • Naritasan Shinshō-ji Temple, Narita, Chiba
  • อื่นๆ หลงผ่านไปบ้าง เดินผ่านแบบงงๆ บ้าง

หลายคนอาจจะสงสัยว่าไปตั้งเจ็ดวัน มีแค่นี้ ก็ขอบอกว่า “ครับ” ฮ่าๆๆๆ

ภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2558

ใกล้ถึงวันสุดท้ายของการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี(ภงด.51)แล้วนะคะ … กำหนดนำส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มต้น 1 ม.ค สิ้นสุด 31 ธ.ค

ปีนี้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก(ทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท) มีเฮ เพราะหากมีกำไรสุทธิตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษี 15% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วที่เสียในอัตรา 20%

150819_ภงด.นิติบุคคลปี 2558(แก้ไข)

ว่าแล้วก็อย่าลืมนำส่งแบบภงด.51 โดยใช้เรทอัตราภาษีใหม่กันด้วยนะคะ  เดี๋ยวจะหาว่าแอดมินไม่เตือน (^_^)

กองทุนการออมแห่งชาติ 2558” ที่รัฐบาลกำลังจะเปิดรับสมัครสมาชิก ในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 หวังจะให้เป็นกองทุนที่ดูแลคนไทยในวัยเกษียณ ว่าแต่กองทุนการออมแห่งชาติ คืออะไร ใครบ้างที่สามารถเข้าร่วมกองทุนนี้ได้ และเงื่อนไขของกองทุนนี้จะเป็นอย่างไร เข้ามามุงกันได้เลยก๊าบบ

>>  กองทุนการออมแห่งชาติ คืออะไร

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนการออมเพื่อวัยสูงอายุที่ให้สิทธิ์ประชาชนสัญชาติไทยเข้าเป็นสมาชิกระบบบัญชีรายบุคคล โดยกองทุนเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมภาคแรงงานทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง ซึ่งยังมีแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพ และแรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ เพราะไม่มีช่องทางให้เข้าถึงเครื่องมือการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน

ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ

>>   จุดประสงค์ของการก่อตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ

กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้วซึ่งคาดว่ามีอยู่กว่า 30 ล้านคน ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณโดยรัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
>> คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ
1. เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย
2. อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์  (เฉพาะในหนึ่งปีแรกที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกได้ และกำหนดให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ออมกับกองทุนได้ 10 ปีนับจากวันที่เป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินสมทบจากรัฐอย่างเต็มที่ เช่น หากอายุ 55 ปี สมัครกองทุนในปีนี้ สามารถออมได้ 10 ปี จนถึงอายุ 65 ปี)
3. ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน และไม่อยู่ในกองทุนตามกฎหมายอื่นที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น, กองทุนประกันสังคม (ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น

>> กองทุนการออมแห่งชาติ 2558 สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้อย่างไร

ผู้ที่มีสิทธิ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนตามที่เงื่อนไขระบุไว้ สามารถสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมได้ที่ธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา โดยในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 จะเป็นวันแรกที่เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น

 >> รัฐบาลจะสมทบเงินให้เท่าใด อย่างไร

เมื่อสมาชิกส่งเงินสะสม รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ภายในสิ้นเดือนถัดไป โดยเงินสมทบที่จ่ายจะจ่ายเป็นสัดส่วนของเงินสะสมแต่ละงวดนั้นๆ และสัมพันธ์กับอายุของสมาชิกในขณะที่ส่งเงินสะสมนั้น ทั้งนี้ ได้กำหนดเพดานการสมทบเงินสูงสุดในแต่ละปีไว้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระทางการคลังของ ประเทศมากจนเกินไป ดังนี้

–  15-30 ปี รัฐจ่ายให้ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี

–  อายุ 30-50 ปี รัฐจ่ายให้ 80% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี

–  อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปีรัฐจะสมทบจ่ายให้ 100% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

580724_กองทุนการออมแห่งชาติ

>> ผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือใน 4 กรณี ดังนี้

1.จะได้รับเงินบำนาญจากเงินสะสม เงินสมทบและดอกผลจากเงินสะสม เงินสมทบ ตามจำนวนเงินในบัญชีของผู้ออมแต่ละคนไปจนตลอดอายุขัยเป็นลักษณะของบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต

2.หากสมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สมาชิกจะขอรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงิน สะสมทั้งหมดหรือบางส่วนจากกองทุนก็ได้ โดยให้ขอรับได้เพียงครั้งเดียว ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจะจ่ายเป็นบำนาญให้สมาชิกเมื่ออายุครบ 60 ปี ซึ่งในกรณีที่สมาชิกคงเงินไว้ในกองทุนทั้งหมดหรือบางส่วน จะนำเงินที่คงไว้นี้มาคำนวณจ่ายบำนาญด้วย

3.กรณีสมาชิกลาออกจากกองทุน ให้สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม จากกองทุน ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้ตกเป็นของกองทุน

4.กรณีสมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายเงินที่มีอยู่ในบัญชีของสมาชิกผู้ตายให้แก่บุคคลที่สมาชิกผู้ตายได้ แสดงเจตนาไว้ต่อกองทุน หรือหากมิได้แสดงเจตนาไว้จะจ่ายให้แก่ทายาท

ทั้งนี้ สิทธิการรับเงินทั้งปวงตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่อาจโอนแก่กันได้

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

http://www.fpo.go.th/FPO/member_profile/it-admin/upload/file/010458_22.pdf

 

 

 

หลังจากอธิบดีกรมสรรพากร ออกประกาศ ฉบับที่ 257-259 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2558  แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เกี่ยวกับข้อกำหนดการนำเงินไปซื้อหน่วยลงทุน เพื่อต้องการให้มีความชัดเจนมากขึ้น  (ดูประกาศได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/50019.0.html)

ขอสรุปสั้นๆง่ายๆ  ตามนี้ค่ะ

เดิมให้ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น

แก้ไขเป็น ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี
(โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค 2558 เป็นต้นไป)

LTF&RMF แก้ไข_130758

ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะที่ได้จ่ายไปตามความจำเป็น เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น) ไม่สามารถนำมารวมเป็นฐานเพื่อซื้อ LTF หรือ RMF ได้ จึงทำให้นักลงทุนที่มีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 ไม่สามารถนำเงินได้เหล่านั้นมารวมคำนวณเพื่อหายอดเงินสูงสุด เพื่อซื้อกองทุน LTF & RMF ได้ กรณีนี้จะซื้อ LTF และ RMF ได้เฉพาะเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

ส่วนเงื่อนไข LTF ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และ RMF ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็มและอายุ 55 ปี กับรวมกับกองทุนอื่น (รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน)  ไม่เกิน 500,000 บาท กฎหมายยังเหมือนเดิมไม่มีการปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น นายโตโน่ มีเงินได้ตามมาตรา 40 จำนวน 1,000,000 บาท และมีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 อีก 500,000 บาท

  1. ถ้าคิดตามเงื่อนไขเดิม : นายโตโน่ จะซื้อ LTF & RMF ได้สูงสุด 225,000 บาท (15% ของ 1,500,000 บาท)
  2. ถ้าคิดตามเงื่อนไขใหม่ : นายโตโน่ จะซื้อ LTF & RMF ได้สูงสุด 150,000 บาท (15% ของ 1,000,000 บาท)

พอจะเข้าใจประกาศที่ออกมาใหม่เกี่ยวกับ LTF และ RMF กันแล้วนะคะ หากใครยังมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามกันมาได้เลยค่ะ ^^

สวัสดีท่านผู้อ่านทุ๊กท่านค๊า …ห่างหายไปนาน แต่ไม่ห่างเหินนะคะ (อัยย่ะ!!) วันนี้แอดมินมีข่าวล่าเกี่ยวกับภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลมาอัพเดทค๊า

ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่…) พ.ศ….(มาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล)

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเสียภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลต้องนำมาเสียภาษีเงินได้อีกครั้งสำหรับหุ้นส่วนแต่ละคน
หสม.+คณะบุคคล_27112557

(ขอบคุณภาพประกอบจากเพจพี่ TaxBugnoms ซึ่งนำภาพมาจาก ท่านอาจารย์ ดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร ด้วยนะค๊า)

ขยายความเพิ่มเติม

>>> ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ตามนิยามในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หมายถึง ห้างหุ้นส่วนประเภทที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด ซึ่งมีการคำนวณเงินได้สุทธิโดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง ตามเอกสารหลักฐานในการประกอบกิจการ จากเดิมที่ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา (ข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 90/2557 วันที่ 22 ตุลาคม 2557)

 

>>> คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หมายความว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มีหน้าที่เสียภาษีเสมือนหนึ่งเป็นบุคคลที่แยกออกจากบุคคลธรรมดาทั่วไป เมื่อประกอบธุรกิจมีผลกำไรในแต่ละปีแล้วนำกำไรของคณะบุคคลมาแบ่งให้กับบุคคลที่อยู่ในคณะบุคคล ส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จากเดิมให้ได้รับยกเว้นตาม (14) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร

 

พระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีภาษีถัดจากปีที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นหมายความว่า หากกฎหมายมีการประกาศใช้ในปี 2557 ก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไปค่ะ

 

คราวนี้ก็ต้องมาลุ้นกันแล้วนะคะว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันภายในปีนี้หรือไม่ ถ้ามีความเคลื่อนไหวใดๆเพิ่มเติม ทางสำนักงานสอบบัญชี เจซีที.ดี จะรีบมาอัพเดททันทีค่ะ ^^

สวัสดีเช้าวันจันทร์ต้นเดือนค๊า แอดมินได้รับสารจากกรมสรรพากรเกี่ยวกับความรู้ภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ E-Commerce ผู้ประกอบการทั้งมือเก่าและมือใหม่ จะได้เข้าใจและไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีกันอีกต่อไป  คลิกดูแหล่งที่มาได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/26215.0.html

ปัจจุบัน กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจการที่การเจริญเติบโตมาก แต่ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่มีความเข้าใจเรื่องภาษีอากร ดังนั้นกรมสรรพากรจึงรวบรวมประเภท “ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่” ที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แสดงให้ผู้ประกอบการทราบเพื่อจักได้ดำเนินการอย่างถูกต้องต่อไป

141103_E-Commerce แบบใดที่ต้องยื่นแบบ

  1. Catalog Website : เว็บไซต์แสดงรูป และราคาสินค้า

หมายถึง เว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการจัดทำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นห้องแสดงสินค้า รายการราคาสินค้า ประชาสัมพันธ์รายการสินค้าโปรโมชั่น ณ ช่วงเวลานั้น ทั้งนี้อาจเน้นไปทางโฆษณาสินค้าตัวใหม่ๆ แต่ไม่ได้มีการซื้อขาย สินค้าออนไลน์แต่อย่างใด หากผู้ซื้อสินค้าสนใจจะซื้อสินค้าจะต้องโทรศัพท์เพื่อสั่งสินค้า ส่วนการชำระราคาค่าสินค้า จะเกิดขึ้นทันทีที่รับมอบสินค้าจากพนักงานส่งสินค้า ข้อสังเกต เว็บไซต์ประเภทนี้จะไม่มีระบบ ไม่มีตะกร้าในการซื้อขาย แต่จะมีเพียงรูปภาพ หรือรายการสินค้าพร้อมราคาเท่านั้น

  1. E-Shopping : เว็บไซต์เพื่อการขายสินค้า

E-Shopping หมายถึง เว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกิจการ ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อกิจการเป็นชื่อเว็บไซต์โดยไม่มีคำอื่นต่อท้าย กิจการจะสร้างกิจกรรมบนเว็บไซต์แบบเต็มรูปแบบ โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ มีการเคลื่อนไหวปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ให้ทันสมัยตลอดเวลา มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก ในส่วนของการขายสินค้า จะมีระบบการรับชำระ ค่าสินค้า มีตะกร้าให้เลือกสินค้า มีระบบการตรวจสอบการส่งของ มีระบบต่างๆ อีกมากมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

  1. Community Web : การขายสินค้าบนชุมชนเว็บบอร์ดโดยผู้ขายไม่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง

Community Web หมายถึง ชุมชนเว็บบอร์ดซึ่งเป็นที่รวมตัวของคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน โดยทางเว็บไซต์ ได้จัดทำเว็บบอร์ดแล้วอนุญาตให้ สมาชิกนำสินค้าต่างๆมาโพสต์ขายได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันจะมีเว็บไซต์แบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เว็บสำหรับคนชอบมือถือ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งการทำเว็บไซต์ให้มีสินค้าตรงกับความต้องการ ของกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยให้การขายสินค้าได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น
การขายสินค้าบนเว็บบอร์ดของ Community Web เป็นการซื้อขายที่ผู้ซื้อ ส่วนใหญ่จะติดต่อกันทางโทรศัพท์หรือ
e-mail ที่ให้ไว้บนเว็บบอร์ด แล้วคุยกันนอกรอบเพื่อตกลงเรื่องราคา ซึ่งมักจะใช้การชำระราคาค่าสินค้าด้วยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร และรับสินค้าทางไปรษณีย์

  1. E-Auction (Electronic Auction) : เว็บไซต์เพื่อการประมูลขายสินค้า

E-Auction (Electronic Auction) หรือที่เรียกว่า Online Auction, E-Bidding, Online Bidding หรือ การประมูลออนไลน์ คือ การประมูลสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายเห็นความเคลื่อนไหวของราคาขณะประมูลในแบบเรียลไทม์ (real time) โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลา และสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

  1. E-Market Place : เว็บไซต์ห้างสรรพสินค้าออนไลน์

E-Market Place หรือ Shopping Mall หมายถึง ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ ทำหน้าที่เหมือนห้างสรรพสินค้าปกติโดยทั่วไป คือ แบ่งเนื้อที่ในเว็บไซต์ออกเป็นขนาดเล็กๆ อาจจะจัดเป็นหมวดหมู่ โซนต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจมาเช่าหน้าร้านเพื่อประกอบธุรกิจโดย E-Market Place จะมีระบบจัดการเว็บไซต์ร้านค้าไว้บริการผู้ประกอบการ เช่น ระบบตะกร้าสั่งซื้อสินค้า ระบบรับชำระเงิน ระบบการตรวจเช็คสต็อก ระบบช่วยร้านค้าประชาสัมพันธ์สินค้า ระบบเว็บบอร์ด เป็นต้น

  1. Stock Photo : เว็บไซต์แหล่งซื้อขายภาพถ่ายดิจิตอล

                Stock Photo หมายถึง ที่เก็บรวบรวมภาพถ่ายไว้ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายภาพถ่ายนั้น การขายภาพถ่ายเป็นเพียงคุณยินยอมหรืออนุญาตให้ผู้ซื้อใช้ภาพถ่ายของคุณเท่านั้น โดยคุณไม่ได้ขายขาดสิทธิ์ในภาพถ่ายดังกล่าว ดังนั้น ภาพถ่ายยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของคุณอยู่อย่างสมบูรณ์เช่นเดิม ซึ่งทำให้คุณสามารถนำภาพถ่ายเดียวกันนี้ไปขายซ้ำแล้วซ้ำอีกจะกี่เว็บไซต์ก็ได้ ส่วนภาพถ่ายที่ซื้อมานั้นผู้ซื้อสามารถ นำไปใช้ในการพิมพ์หนังสือ การพิมพ์เอกสารในโอกาสพิเศษ นิตยสาร บริษัทโฆษณา การสร้างภาพยนตร์ นักออกแบบเว็บไซต์ ศิลปินด้านภาพ บริษัทรับตกแต่งภายใน และด้านอื่นๆ ตามต้องการ ปัจจุบัน Stock Photo ไม่ได้รับเฉพาะภาพถ่ายเท่านั้น ยังรับภาพ จากนักออกแบบผู้สร้างสรรค์ภาพ จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Illustrator, Photoshop อีกด้วย

  1. Google AdSense : การรับโฆษณาจากเว็บไซต์กูเกิ้ล

Google AdSense หมายถึง โปรแกรมการโฆษณาสินค้าที่ทาง Google เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีเว็บไซต์สามารถสร้างรายได้ด้วยการนำโฆษณาของ Google มาใส่ไว้ที่เว็บไซต์ โดยรายได้จะเกิดจากการมีผู้อื่นมาเยี่ยมชมและการคลิกโฆษณานั้น ซึ่งโฆษณาต่างๆของ Google จะเป็นโฆษณาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์ กรณีที่เว็บไซต์เกี่ยวข้องกับเกมส์โฆษณาที่ทาง Google จะส่งมาก็จะเป็นเกี่ยวกับเกมส์ เช่นกัน

  1. SEO (Search Engine Optimization) : การทำให้ผลการค้นหาบนกูเกิ้ลติดลำดับแรกๆ

                SEO หรือ Search Engine Optimization หมายถึง การทำให้ผลการค้นหาจาก Google แสดงข้อมูลเว็บไซต์ติดอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาปกติ (Natural Search) นักคอมพิวเตอร์สามารถทำได้ด้วยการปรับเว็บไซต์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้คะแนนของ Google หรือที่เรียกว่า Page Rank เช่น เว็บไซต์ที่เปิดมาเป็นระยะเวลานาน ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์จำนวนมาก บทความบนเว็บไซต์มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่มีข้อความที่คัดลอกจากเว็บไซต์อื่น เป็นต้น โดยเว็บไซต์ที่มี Page Rank สูงก็จะได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาปกติ ผู้ประกอบการที่ต้องการให้ผลการค้นหาของ Search engine ปรากฏบนหน้าแรกของการค้นหาซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับ Google Adwords / Google AdSense การโฆษณาแบบนี้ผู้ประกอบการต้องว่าจ้างนักคอมพิวเตอร์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเป็นผู้ดำเนินการ

  1. Affiliate Marketing : เว็บไซต์นายหน้าการขายสินค้าและบริการ

                Affiliate Marketing หมายถึง ธุรกิจที่ใช้ระบบการขาย และชำระเงินของผู้ขาย โดยผู้ประกอบการจะชักชวนให้ซื้อสินค้าด้วยการโฆษณาข้อมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์ของตนเองแล้วผู้ซื้อทำการคลิกผ่าน Banner หรือ Link ID เพื่อเข้าไปซื้อสินค้า/บริการ จากเว็บไซต์นั้นๆ จึงและจะได้รับผลตอบแทนค่าธรรมเนียมภายหลังการขายประสบผลสำเร็จ
ผู้ประกอบการในการทำ Affiliate Marketing
1. บริษัทหรือเว็บไซต์ที่ต้องการทำการโฆษณาสินค้า/บริการของตนเอง
2. Affiliate Network หรือ Affiliate Program Providers หมายถึง เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของบริษัทหรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการทำการโฆษณาสินค้า/บริการของตนบนอินเทอร์เน็ต โดยผู้เป็น Affiliate Network มีหน้าที่เก็บข้อมูลและดูแลระบบจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับตัวแทนโฆษณา
3. Affiliate หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนโฆษณาสินค้า/บริการให้กับเว็บไซต์ต่างๆ

       10.  Game Online : การเล่นเกมผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์

                Game Online หมายถึง การเล่นเกมผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ โดยผู้เล่นเกมออนไลน์จะต้องติดตั้งโปรแกรม Client เพื่อเชื่อมโยง กับบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ซึ่งทำหน้าที่เป็น Server ทั้งนี้ข้อมูลต่างๆ ของผู้เล่นเกมออนไลน์จะถูกเก็บไว้ในเครื่อง Server ซึ่งทำให้ผู้เล่นเกมออนไลน์สามารถแข่งขันและสนทนา (Chat) กับผู้เล่นรายอื่นที่อยู่ในเกมออนไลน์ได้ทันที ทั้งนี้ผู้เล่นเกมออนไลน์ จะต้องเสียค่าบริการ สำหรับการเล่นเกมออนไลน์ตามอัตราและเงื่อนไขที่บริษัทผู้ให้บริการกำหนดไว้

*** สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี คือ ผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการให้บริการ หรือขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ ***

หวังว่าผู้ประกอบการคงจะเข้าใจเรื่องภาษี E-Commerce กันมากขึ้นนะคะ ^^

มาแล้ววววค๊า สำหรับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี  มีวิธีการคิดคำนวณง่ายๆ 2 วิธี ดังนี้ค่ะ

 

วิธีที่1 คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ โดยให้ผู้เสียภาษีนำเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5) – (8) ที่ได้รับตั้งแต่เดือนม.ค ถึง มิ.ย. ในปีภาษีนั้น มาหักออกด้วยค่าใช้จ่าย* และค่าลดหย่อน** เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ แล้วให้คำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกได้รับยกเว้นตามพ.ร.ฎ.(ฉบับที่470) พ.ศ. 2551

โปรโมชั่นลดแลกแจกแถม!! ยกเว้นเงินได้สำหรับ คนพิการที่มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์  รวมไปถึงสว. เอ้ย ผู้มีเงินได้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในปีภาษี และเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท

* ค่าใช้จ่าย สามารถหักได้จริงตามความจำเป็นและสมควร หรือ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ตามเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท อาทิ ให้เช่าบ้าน โรงเรือน สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 30 หรือหากทำกิจการโรงสีข้าว สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ถึงในอัตราร้อยละ 85 เป็นต้น

** ตัวอย่างรายการลดหย่อนต่างๆ เช่น

– ผู้มีเงินได้ สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป หักค่าลดหย่อนได้ 15,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของการเสียภาษีสิ้นปี)

– ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีเกิน 30,000 บาท สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้คนละ 15,000 บาท หากบุตรหลายคนรับอุปการะบิดามารดา ให้บุตรที่มีแบบ ล.ย.03 เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

– เงินสมทบประกันสังคม หักได้ตามที่จ่ายจริง ตั้งแต่ม.ค –มิ.ย ในปีภาษี เป็นต้น

 

วิธีที่2 คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน หากผู้เสียภาษีมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ให้นำเงินได้พึงประเมินไปคูณด้วย 0.005 (0.5%)

แม้จะมีวิธีการคำนวณ 2 วิธี แต่ไม่ใช่จะเลือกเสียจากวิธีไหนก็ได้นะคะ ผู้เสียภาษีต้องชำระภาษีจากยอดที่มากกว่า  … ซะงั้นอะ (T_T)  เว้นแต่คำนวณภาษีวิธีที่2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้ชำระภาษีจากวิธีที่1

140916_การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี(ภงด.94)

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ

 

นางสาวจิ๊ฟฟี่ เป็นสาวโสด สวย และรวยมาก มีรายได้ค่าเช่าบ้าน เดือนละ 50,000 บาท และยังได้อุปการะเลี้ยงดูบิดาที่มีอายุ 61 ปี นอกจากจะสวยแล้วยังใจบุญบริจาคเงินช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อคนพิการในเดือนมี.ค จำนวน 5,000 บาท

 

สามารถคำนวณการเสียภาษีภงด.94 ได้ดังนี้

วิธีที่1
เงินได้ค่าเช่าบ้าน ม.ค – มิ.ย. (50,000*6)                300,000 บาท
หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา 30%  (300,000*30%)   (90,000) บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว                                           (15,000) บาท
หักอุปการะเลี้ยงดูบิดา (อายุ 61 ปี)                          (15,000)  บาท
หักเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง                                    (5,000)  บาท
เงินได้สุทธิก่อนเสียภาษี                                          175,000  บาท

ต้องเสียภาษีดังนี้

เงินได้ 150,000 บาทแรก ยกเว้นภาษี และที่เหลือ 25,000 บาท (ที่เกินจาก 150,000 บาท) อยู่ในช่วงอัตราภาษี 5%  เท่ากับว่าต้องเสียภาษี 1,250 บาท

 

วิธีที่2
คำนวณภาษีจาก 300,000 * 0.005 = 1,500 บาท

 

สรุป นางสาวจิ๊ฟฟี่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีจำนวน 1,250 บาท (ดูปากจิ๊ฟฟี่นะคะ หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน)

 

อ้าว งงกันหละสิ ….ก็วิธีที่ 2 เสียภาษีมากกว่า ไหงเสียภาษีวิธีที่ 1 … แท่น แทน แท๊น …ก็วิธีที่ 2 ยอดภาษีน้อยกว่า 5,000 บาท นางสาวจิ๊ฟฟี่เลยต้องไปเสียตามวิธีที่ 1 แทนค๊า

 

สามารถอ่านวิธีกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี(ภงด.94) ปีภาษี 2557 แบบละเอียดยิบๆ ได้ที่นี่

http://www.rd.go.th/fileadmin/tax_pdf/pit/Ins942557_020757.pdf

 

ขอบพระคุณที่ติดตามมาถึงตรงนี้กันนะคะ หวังว่าบทความนี้คงจะช่วย ให้เข้าใจการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมากขึ้น พบกันใหม่บทความหน้าค๊า  (^_^)