About JCT.D Audit Office

เป็นผู้สาวที่ตอนเด็กๆไม่รู้จัก บัญชี ภาษี จนโตมาแม้จะได้มาเรียนคณะบัญชี ก็ยังไม่ได้มีความรู้สึกชอบในด้านนี้ จนกระทั่งพี่รหัสแนะนำให้ไปฝึกงานด้านนี้ดู ผู้สาวก็เลือกที่จะไปฝึกงาน Local Audit Firm เพราะได้เงินเยอะกว่าทำ Big4 ...ป๊ะ เท่ง ป๊ะ ... งานนี้หละ ใช่เลย!!! ชั้นเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ Born To Be กันเลยทีเดียว จวบจนเข้าสู่ช่วงวัยที่ผู้หญิงสวยที่สุดนางก็ได้มาเปิดกิจการเป็นของตัวเอง ใครมีปัญหาด้านบัญชี ด้านภาษี ต้องมาหานาง ซึ่งนางจะช่วยได้หรือไม่ได้ นั้นเป็นอีกเรื่อง ^^

ช่วงนี้ใกล้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีแล้วนะคะ (แบบภงด.94) มีหลายคนสอบถามกันเข้ามาเกี่ยวกับการยื่นภาษี วันนี้ทางสำนักงานเลยจะมาบอกเกี่ยวกับแบบนำส่งภาษีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อนค่ะ

แบบนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้

  1. ภ.ง.ด.94 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 40(5)-(8) ต้องยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของงวด ม.ค.-มิ.ย. ภายในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน (เป็นการเสียภาษีครึ่งปี สำหรับคนไม่มีเงินเดือน แต่มีรายได้อย่างอื่น เช่น ค่าเช่า ขายที่ดินได้)
  2. ภ.ง.ด.91 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภท “เงินเดือน” อย่างเดียวให้ยื่นแบบเพื่อเสียภาษีเงินได้ของทั้งปี (ครั้งเดียว) ภายในเดือน มี.ค.ของปีถัดไป
  3. ภ.ง.ด.90 ใช้สำหรับผู้มีเงินได้ประเภทที่มิใช่เงินเดือน หรือมีเงินได้ 2 ประเภท ขึ้นไป (สำหรับคนมีเงินเดือนและมีรายได้อื่นด้วย เช่น ค่าเช่า ขายที่ดินได้ ประกอบวิชาชีพอิสระ เป็นต้น)

วันนี้จัดแบบเบาๆก่อนนะคะ พรุ่งนี้จะมาพูดถึงประเภทของเงินได้พีงประเมินกันค่ะ ^^

#ภาษีครึ่งปี #ภงด94 #ภงด90 #ภงด91 #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา#Seriesภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2558

ใกล้ถึงวันสุดท้ายของการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี(ภงด.51)แล้วนะคะ … กำหนดนำส่งภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีเริ่มต้น 1 ม.ค สิ้นสุด 31 ธ.ค

ปีนี้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก(ทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท) มีเฮ เพราะหากมีกำไรสุทธิตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เสียภาษี 15% ซึ่งน้อยกว่าปีที่แล้วที่เสียในอัตรา 20%

150819_ภงด.นิติบุคคลปี 2558(แก้ไข)

ว่าแล้วก็อย่าลืมนำส่งแบบภงด.51 โดยใช้เรทอัตราภาษีใหม่กันด้วยนะคะ  เดี๋ยวจะหาว่าแอดมินไม่เตือน (^_^)

กองทุนการออมแห่งชาติ 2558” ที่รัฐบาลกำลังจะเปิดรับสมัครสมาชิก ในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 หวังจะให้เป็นกองทุนที่ดูแลคนไทยในวัยเกษียณ ว่าแต่กองทุนการออมแห่งชาติ คืออะไร ใครบ้างที่สามารถเข้าร่วมกองทุนนี้ได้ และเงื่อนไขของกองทุนนี้จะเป็นอย่างไร เข้ามามุงกันได้เลยก๊าบบ

>>  กองทุนการออมแห่งชาติ คืออะไร

กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนการออมเพื่อวัยสูงอายุที่ให้สิทธิ์ประชาชนสัญชาติไทยเข้าเป็นสมาชิกระบบบัญชีรายบุคคล โดยกองทุนเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีระบบการออมเพื่อการชราภาพที่ครอบคลุมภาคแรงงานทุกประเภทได้อย่างทั่วถึง ซึ่งยังมีแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่ได้รับความคุ้มครองเพื่อการชราภาพ และแรงงานเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในความยากจนในวัยสูงอายุ เพราะไม่มีช่องทางให้เข้าถึงเครื่องมือการออมเงินในขณะที่อยู่ในวัยทำงาน

ดังนั้นรัฐบาลจึงจัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นช่องทางการออมขั้นพื้นฐานให้แก่ผู้ที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองให้ได้รับผลประโยชน์ในรูปแบบของบำนาญ อันเป็นการสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการดูแลจากภาครัฐ

>>   จุดประสงค์ของการก่อตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ

กองทุนการออมแห่งชาติ เป็นนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระหรืออยู่นอกระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐ หรือกองทุนเอกชนที่มีนายจ้างจ่ายสมทบแล้วซึ่งคาดว่ามีอยู่กว่า 30 ล้านคน ได้ออมเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณโดยรัฐจะช่วยจ่ายสมทบให้ส่วนหนึ่ง และเมื่อผู้ออมมีอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญเป็นรายเดือนตลอดชีพ ถือเป็นการสร้างหลักประกันให้กับชีวิตในยามที่ไม่มีรายได้ประจำ และเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
>> คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ
1. เป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย
2. อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์  (เฉพาะในหนึ่งปีแรกที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์สมัครเป็นสมาชิกได้ และกำหนดให้ผู้สมัครที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ออมกับกองทุนได้ 10 ปีนับจากวันที่เป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้ได้รับเงินสมทบจากรัฐอย่างเต็มที่ เช่น หากอายุ 55 ปี สมัครกองทุนในปีนี้ สามารถออมได้ 10 ปี จนถึงอายุ 65 ปี)
3. ไม่อยู่ในระบบบำเหน็จบำนาญภาครัฐหรือเอกชน และไม่อยู่ในกองทุนตามกฎหมายอื่นที่ได้รับเงินสมทบจากรัฐหรือนายจ้าง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น, กองทุนประกันสังคม (ซึ่งส่งเงินเพื่อได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เป็นต้น

>> กองทุนการออมแห่งชาติ 2558 สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้อย่างไร

ผู้ที่มีสิทธิ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนตามที่เงื่อนไขระบุไว้ สามารถสมัครสมาชิกและส่งเงินสะสมได้ที่ธนาคารออมสิน ธกส. และธนาคารกรุงไทย ทุกสาขา โดยในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 จะเป็นวันแรกที่เปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ใช้หลักฐานเพียงบัตรประชาชนอย่างเดียวเท่านั้น

 >> รัฐบาลจะสมทบเงินให้เท่าใด อย่างไร

เมื่อสมาชิกส่งเงินสะสม รัฐบาลจะจ่ายเงินสมทบให้ภายในสิ้นเดือนถัดไป โดยเงินสมทบที่จ่ายจะจ่ายเป็นสัดส่วนของเงินสะสมแต่ละงวดนั้นๆ และสัมพันธ์กับอายุของสมาชิกในขณะที่ส่งเงินสะสมนั้น ทั้งนี้ ได้กำหนดเพดานการสมทบเงินสูงสุดในแต่ละปีไว้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดเป็นภาระทางการคลังของ ประเทศมากจนเกินไป ดังนี้

–  15-30 ปี รัฐจ่ายให้ 50% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 600 บาทต่อปี

–  อายุ 30-50 ปี รัฐจ่ายให้ 80% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 960 บาทต่อปี

–  อายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปีรัฐจะสมทบจ่ายให้ 100% ของเงินสะสม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อปี

580724_กองทุนการออมแห่งชาติ

>> ผลประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ

เมื่อสมาชิกอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือใน 4 กรณี ดังนี้

1.จะได้รับเงินบำนาญจากเงินสะสม เงินสมทบและดอกผลจากเงินสะสม เงินสมทบ ตามจำนวนเงินในบัญชีของผู้ออมแต่ละคนไปจนตลอดอายุขัยเป็นลักษณะของบำนาญรายเดือนตลอดชีวิต

2.หากสมาชิกทุพพลภาพก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ สมาชิกจะขอรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงิน สะสมทั้งหมดหรือบางส่วนจากกองทุนก็ได้ โดยให้ขอรับได้เพียงครั้งเดียว ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจะจ่ายเป็นบำนาญให้สมาชิกเมื่ออายุครบ 60 ปี ซึ่งในกรณีที่สมาชิกคงเงินไว้ในกองทุนทั้งหมดหรือบางส่วน จะนำเงินที่คงไว้นี้มาคำนวณจ่ายบำนาญด้วย

3.กรณีสมาชิกลาออกจากกองทุน ให้สมาชิกมีสิทธิได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสม จากกองทุน ส่วนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้ตกเป็นของกองทุน

4.กรณีสมาชิกเสียชีวิต กองทุนจะจ่ายเงินที่มีอยู่ในบัญชีของสมาชิกผู้ตายให้แก่บุคคลที่สมาชิกผู้ตายได้ แสดงเจตนาไว้ต่อกองทุน หรือหากมิได้แสดงเจตนาไว้จะจ่ายให้แก่ทายาท

ทั้งนี้ สิทธิการรับเงินทั้งปวงตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่อาจโอนแก่กันได้

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

http://www.fpo.go.th/FPO/member_profile/it-admin/upload/file/010458_22.pdf

 

 

 

หลังจากอธิบดีกรมสรรพากร ออกประกาศ ฉบับที่ 257-259 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2558  แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เกี่ยวกับข้อกำหนดการนำเงินไปซื้อหน่วยลงทุน เพื่อต้องการให้มีความชัดเจนมากขึ้น  (ดูประกาศได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/50019.0.html)

ขอสรุปสั้นๆง่ายๆ  ตามนี้ค่ะ

เดิมให้ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษีนั้น

แก้ไขเป็น ซื้อได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี
(โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค 2558 เป็นต้นไป)

LTF&RMF แก้ไข_130758

ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 (เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงหรือค่าพาหนะที่ได้จ่ายไปตามความจำเป็น เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น) ไม่สามารถนำมารวมเป็นฐานเพื่อซื้อ LTF หรือ RMF ได้ จึงทำให้นักลงทุนที่มีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 ไม่สามารถนำเงินได้เหล่านั้นมารวมคำนวณเพื่อหายอดเงินสูงสุด เพื่อซื้อกองทุน LTF & RMF ได้ กรณีนี้จะซื้อ LTF และ RMF ได้เฉพาะเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

ส่วนเงื่อนไข LTF ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี และ RMF ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็มและอายุ 55 ปี กับรวมกับกองทุนอื่น (รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., และกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน)  ไม่เกิน 500,000 บาท กฎหมายยังเหมือนเดิมไม่มีการปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น นายโตโน่ มีเงินได้ตามมาตรา 40 จำนวน 1,000,000 บาท และมีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 อีก 500,000 บาท

  1. ถ้าคิดตามเงื่อนไขเดิม : นายโตโน่ จะซื้อ LTF & RMF ได้สูงสุด 225,000 บาท (15% ของ 1,500,000 บาท)
  2. ถ้าคิดตามเงื่อนไขใหม่ : นายโตโน่ จะซื้อ LTF & RMF ได้สูงสุด 150,000 บาท (15% ของ 1,000,000 บาท)

พอจะเข้าใจประกาศที่ออกมาใหม่เกี่ยวกับ LTF และ RMF กันแล้วนะคะ หากใครยังมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามกันมาได้เลยค่ะ ^^

สวัสดีท่านผู้อ่านทุ๊กท่านค๊า …ห่างหายไปนาน แต่ไม่ห่างเหินนะคะ (อัยย่ะ!!) วันนี้แอดมินมีข่าวล่าเกี่ยวกับภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลมาอัพเดทค๊า

ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่…) พ.ศ….(มาตรการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีเงินได้ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล)

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเสียภาษีเงินได้ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
2. เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลต้องนำมาเสียภาษีเงินได้อีกครั้งสำหรับหุ้นส่วนแต่ละคน
หสม.+คณะบุคคล_27112557

(ขอบคุณภาพประกอบจากเพจพี่ TaxBugnoms ซึ่งนำภาพมาจาก ท่านอาจารย์ ดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร ด้วยนะค๊า)

ขยายความเพิ่มเติม

>>> ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ตามนิยามในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์) หมายถึง ห้างหุ้นส่วนประเภทที่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่จำกัด ซึ่งมีการคำนวณเงินได้สุทธิโดยหักค่าใช้จ่ายตามจริง ตามเอกสารหลักฐานในการประกอบกิจการ จากเดิมที่ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา (ข่าวกระทรวงการคลังฉบับที่ 90/2557 วันที่ 22 ตุลาคม 2557)

 

>>> คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หมายความว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทำการร่วมกันอันมิใช่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ มีหน้าที่เสียภาษีเสมือนหนึ่งเป็นบุคคลที่แยกออกจากบุคคลธรรมดาทั่วไป เมื่อประกอบธุรกิจมีผลกำไรในแต่ละปีแล้วนำกำไรของคณะบุคคลมาแบ่งให้กับบุคคลที่อยู่ในคณะบุคคล ส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวจะต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จากเดิมให้ได้รับยกเว้นตาม (14) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร

 

พระราชบัญญัติดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีภาษีถัดจากปีที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป นั่นหมายความว่า หากกฎหมายมีการประกาศใช้ในปี 2557 ก็จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไปค่ะ

 

คราวนี้ก็ต้องมาลุ้นกันแล้วนะคะว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันภายในปีนี้หรือไม่ ถ้ามีความเคลื่อนไหวใดๆเพิ่มเติม ทางสำนักงานสอบบัญชี เจซีที.ดี จะรีบมาอัพเดททันทีค่ะ ^^

สวัสดีเช้าวันจันทร์ต้นเดือนค๊า แอดมินได้รับสารจากกรมสรรพากรเกี่ยวกับความรู้ภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ E-Commerce ผู้ประกอบการทั้งมือเก่าและมือใหม่ จะได้เข้าใจและไม่ต้องกังวลเรื่องภาษีกันอีกต่อไป  คลิกดูแหล่งที่มาได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/26215.0.html

ปัจจุบัน กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจการที่การเจริญเติบโตมาก แต่ผู้ประกอบการบางส่วนยังไม่มีความเข้าใจเรื่องภาษีอากร ดังนั้นกรมสรรพากรจึงรวบรวมประเภท “ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์รูปแบบใหม่” ที่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี แสดงให้ผู้ประกอบการทราบเพื่อจักได้ดำเนินการอย่างถูกต้องต่อไป

141103_E-Commerce แบบใดที่ต้องยื่นแบบ

  1. Catalog Website : เว็บไซต์แสดงรูป และราคาสินค้า

หมายถึง เว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการจัดทำขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เป็นห้องแสดงสินค้า รายการราคาสินค้า ประชาสัมพันธ์รายการสินค้าโปรโมชั่น ณ ช่วงเวลานั้น ทั้งนี้อาจเน้นไปทางโฆษณาสินค้าตัวใหม่ๆ แต่ไม่ได้มีการซื้อขาย สินค้าออนไลน์แต่อย่างใด หากผู้ซื้อสินค้าสนใจจะซื้อสินค้าจะต้องโทรศัพท์เพื่อสั่งสินค้า ส่วนการชำระราคาค่าสินค้า จะเกิดขึ้นทันทีที่รับมอบสินค้าจากพนักงานส่งสินค้า ข้อสังเกต เว็บไซต์ประเภทนี้จะไม่มีระบบ ไม่มีตะกร้าในการซื้อขาย แต่จะมีเพียงรูปภาพ หรือรายการสินค้าพร้อมราคาเท่านั้น

  1. E-Shopping : เว็บไซต์เพื่อการขายสินค้า

E-Shopping หมายถึง เว็บไซต์ที่ผู้ประกอบการสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของกิจการ ส่วนใหญ่จะใช้ชื่อกิจการเป็นชื่อเว็บไซต์โดยไม่มีคำอื่นต่อท้าย กิจการจะสร้างกิจกรรมบนเว็บไซต์แบบเต็มรูปแบบ โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ มีการเคลื่อนไหวปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเว็บไซต์ให้ทันสมัยตลอดเวลา มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก ในส่วนของการขายสินค้า จะมีระบบการรับชำระ ค่าสินค้า มีตะกร้าให้เลือกสินค้า มีระบบการตรวจสอบการส่งของ มีระบบต่างๆ อีกมากมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

  1. Community Web : การขายสินค้าบนชุมชนเว็บบอร์ดโดยผู้ขายไม่มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง

Community Web หมายถึง ชุมชนเว็บบอร์ดซึ่งเป็นที่รวมตัวของคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กัน โดยทางเว็บไซต์ ได้จัดทำเว็บบอร์ดแล้วอนุญาตให้ สมาชิกนำสินค้าต่างๆมาโพสต์ขายได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันจะมีเว็บไซต์แบบนี้อยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เว็บสำหรับคนชอบมือถือ กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งการทำเว็บไซต์ให้มีสินค้าตรงกับความต้องการ ของกลุ่มเป้าหมาย จะช่วยให้การขายสินค้าได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น
การขายสินค้าบนเว็บบอร์ดของ Community Web เป็นการซื้อขายที่ผู้ซื้อ ส่วนใหญ่จะติดต่อกันทางโทรศัพท์หรือ
e-mail ที่ให้ไว้บนเว็บบอร์ด แล้วคุยกันนอกรอบเพื่อตกลงเรื่องราคา ซึ่งมักจะใช้การชำระราคาค่าสินค้าด้วยวิธีการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร และรับสินค้าทางไปรษณีย์

  1. E-Auction (Electronic Auction) : เว็บไซต์เพื่อการประมูลขายสินค้า

E-Auction (Electronic Auction) หรือที่เรียกว่า Online Auction, E-Bidding, Online Bidding หรือ การประมูลออนไลน์ คือ การประมูลสินค้าและบริการผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายเห็นความเคลื่อนไหวของราคาขณะประมูลในแบบเรียลไทม์ (real time) โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องของเวลา และสถานที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

  1. E-Market Place : เว็บไซต์ห้างสรรพสินค้าออนไลน์

E-Market Place หรือ Shopping Mall หมายถึง ห้างสรรพสินค้าออนไลน์ ทำหน้าที่เหมือนห้างสรรพสินค้าปกติโดยทั่วไป คือ แบ่งเนื้อที่ในเว็บไซต์ออกเป็นขนาดเล็กๆ อาจจะจัดเป็นหมวดหมู่ โซนต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจมาเช่าหน้าร้านเพื่อประกอบธุรกิจโดย E-Market Place จะมีระบบจัดการเว็บไซต์ร้านค้าไว้บริการผู้ประกอบการ เช่น ระบบตะกร้าสั่งซื้อสินค้า ระบบรับชำระเงิน ระบบการตรวจเช็คสต็อก ระบบช่วยร้านค้าประชาสัมพันธ์สินค้า ระบบเว็บบอร์ด เป็นต้น

  1. Stock Photo : เว็บไซต์แหล่งซื้อขายภาพถ่ายดิจิตอล

                Stock Photo หมายถึง ที่เก็บรวบรวมภาพถ่ายไว้ด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายภาพถ่ายนั้น การขายภาพถ่ายเป็นเพียงคุณยินยอมหรืออนุญาตให้ผู้ซื้อใช้ภาพถ่ายของคุณเท่านั้น โดยคุณไม่ได้ขายขาดสิทธิ์ในภาพถ่ายดังกล่าว ดังนั้น ภาพถ่ายยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของคุณอยู่อย่างสมบูรณ์เช่นเดิม ซึ่งทำให้คุณสามารถนำภาพถ่ายเดียวกันนี้ไปขายซ้ำแล้วซ้ำอีกจะกี่เว็บไซต์ก็ได้ ส่วนภาพถ่ายที่ซื้อมานั้นผู้ซื้อสามารถ นำไปใช้ในการพิมพ์หนังสือ การพิมพ์เอกสารในโอกาสพิเศษ นิตยสาร บริษัทโฆษณา การสร้างภาพยนตร์ นักออกแบบเว็บไซต์ ศิลปินด้านภาพ บริษัทรับตกแต่งภายใน และด้านอื่นๆ ตามต้องการ ปัจจุบัน Stock Photo ไม่ได้รับเฉพาะภาพถ่ายเท่านั้น ยังรับภาพ จากนักออกแบบผู้สร้างสรรค์ภาพ จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Illustrator, Photoshop อีกด้วย

  1. Google AdSense : การรับโฆษณาจากเว็บไซต์กูเกิ้ล

Google AdSense หมายถึง โปรแกรมการโฆษณาสินค้าที่ทาง Google เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีเว็บไซต์สามารถสร้างรายได้ด้วยการนำโฆษณาของ Google มาใส่ไว้ที่เว็บไซต์ โดยรายได้จะเกิดจากการมีผู้อื่นมาเยี่ยมชมและการคลิกโฆษณานั้น ซึ่งโฆษณาต่างๆของ Google จะเป็นโฆษณาที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับเนื้อหาของเว็บไซต์ กรณีที่เว็บไซต์เกี่ยวข้องกับเกมส์โฆษณาที่ทาง Google จะส่งมาก็จะเป็นเกี่ยวกับเกมส์ เช่นกัน

  1. SEO (Search Engine Optimization) : การทำให้ผลการค้นหาบนกูเกิ้ลติดลำดับแรกๆ

                SEO หรือ Search Engine Optimization หมายถึง การทำให้ผลการค้นหาจาก Google แสดงข้อมูลเว็บไซต์ติดอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาปกติ (Natural Search) นักคอมพิวเตอร์สามารถทำได้ด้วยการปรับเว็บไซต์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้คะแนนของ Google หรือที่เรียกว่า Page Rank เช่น เว็บไซต์ที่เปิดมาเป็นระยะเวลานาน ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์จำนวนมาก บทความบนเว็บไซต์มีการปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ ไม่มีข้อความที่คัดลอกจากเว็บไซต์อื่น เป็นต้น โดยเว็บไซต์ที่มี Page Rank สูงก็จะได้อยู่ในอันดับต้นๆ ของผลการค้นหาปกติ ผู้ประกอบการที่ต้องการให้ผลการค้นหาของ Search engine ปรากฏบนหน้าแรกของการค้นหาซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องกับ Google Adwords / Google AdSense การโฆษณาแบบนี้ผู้ประกอบการต้องว่าจ้างนักคอมพิวเตอร์ที่มีความชำนาญเฉพาะด้านเป็นผู้ดำเนินการ

  1. Affiliate Marketing : เว็บไซต์นายหน้าการขายสินค้าและบริการ

                Affiliate Marketing หมายถึง ธุรกิจที่ใช้ระบบการขาย และชำระเงินของผู้ขาย โดยผู้ประกอบการจะชักชวนให้ซื้อสินค้าด้วยการโฆษณาข้อมูลสินค้าผ่านเว็บไซต์ของตนเองแล้วผู้ซื้อทำการคลิกผ่าน Banner หรือ Link ID เพื่อเข้าไปซื้อสินค้า/บริการ จากเว็บไซต์นั้นๆ จึงและจะได้รับผลตอบแทนค่าธรรมเนียมภายหลังการขายประสบผลสำเร็จ
ผู้ประกอบการในการทำ Affiliate Marketing
1. บริษัทหรือเว็บไซต์ที่ต้องการทำการโฆษณาสินค้า/บริการของตนเอง
2. Affiliate Network หรือ Affiliate Program Providers หมายถึง เว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมของบริษัทหรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่ต้องการทำการโฆษณาสินค้า/บริการของตนบนอินเทอร์เน็ต โดยผู้เป็น Affiliate Network มีหน้าที่เก็บข้อมูลและดูแลระบบจ่ายเงินค่าตอบแทนให้กับตัวแทนโฆษณา
3. Affiliate หมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนโฆษณาสินค้า/บริการให้กับเว็บไซต์ต่างๆ

       10.  Game Online : การเล่นเกมผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์

                Game Online หมายถึง การเล่นเกมผ่านระบบเครือข่ายออนไลน์ โดยผู้เล่นเกมออนไลน์จะต้องติดตั้งโปรแกรม Client เพื่อเชื่อมโยง กับบริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ซึ่งทำหน้าที่เป็น Server ทั้งนี้ข้อมูลต่างๆ ของผู้เล่นเกมออนไลน์จะถูกเก็บไว้ในเครื่อง Server ซึ่งทำให้ผู้เล่นเกมออนไลน์สามารถแข่งขันและสนทนา (Chat) กับผู้เล่นรายอื่นที่อยู่ในเกมออนไลน์ได้ทันที ทั้งนี้ผู้เล่นเกมออนไลน์ จะต้องเสียค่าบริการ สำหรับการเล่นเกมออนไลน์ตามอัตราและเงื่อนไขที่บริษัทผู้ให้บริการกำหนดไว้

*** สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี คือ ผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการให้บริการ หรือขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ ***

หวังว่าผู้ประกอบการคงจะเข้าใจเรื่องภาษี E-Commerce กันมากขึ้นนะคะ ^^

มาแล้ววววค๊า สำหรับวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี  มีวิธีการคิดคำนวณง่ายๆ 2 วิธี ดังนี้ค่ะ

 

วิธีที่1 คำนวณภาษีจากเงินได้สุทธิ โดยให้ผู้เสียภาษีนำเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5) – (8) ที่ได้รับตั้งแต่เดือนม.ค ถึง มิ.ย. ในปีภาษีนั้น มาหักออกด้วยค่าใช้จ่าย* และค่าลดหย่อน** เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิ แล้วให้คำนวณตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกได้รับยกเว้นตามพ.ร.ฎ.(ฉบับที่470) พ.ศ. 2551

โปรโมชั่นลดแลกแจกแถม!! ยกเว้นเงินได้สำหรับ คนพิการที่มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์  รวมไปถึงสว. เอ้ย ผู้มีเงินได้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในปีภาษี และเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้ยกเว้นเงินได้ 190,000 บาท

* ค่าใช้จ่าย สามารถหักได้จริงตามความจำเป็นและสมควร หรือ หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา ตามเงินได้พึงประเมินแต่ละประเภท อาทิ ให้เช่าบ้าน โรงเรือน สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 30 หรือหากทำกิจการโรงสีข้าว สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ถึงในอัตราร้อยละ 85 เป็นต้น

** ตัวอย่างรายการลดหย่อนต่างๆ เช่น

– ผู้มีเงินได้ สำหรับบุคคลธรรมดาทั่วไป หักค่าลดหย่อนได้ 15,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของการเสียภาษีสิ้นปี)

– ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีเกิน 30,000 บาท สามารถหักลดหย่อนบิดามารดาของผู้มีเงินได้คนละ 15,000 บาท หากบุตรหลายคนรับอุปการะบิดามารดา ให้บุตรที่มีแบบ ล.ย.03 เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

– เงินสมทบประกันสังคม หักได้ตามที่จ่ายจริง ตั้งแต่ม.ค –มิ.ย ในปีภาษี เป็นต้น

 

วิธีที่2 คำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมิน หากผู้เสียภาษีมีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ให้นำเงินได้พึงประเมินไปคูณด้วย 0.005 (0.5%)

แม้จะมีวิธีการคำนวณ 2 วิธี แต่ไม่ใช่จะเลือกเสียจากวิธีไหนก็ได้นะคะ ผู้เสียภาษีต้องชำระภาษีจากยอดที่มากกว่า  … ซะงั้นอะ (T_T)  เว้นแต่คำนวณภาษีวิธีที่2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาท ให้ชำระภาษีจากวิธีที่1

140916_การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี(ภงด.94)

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ

 

นางสาวจิ๊ฟฟี่ เป็นสาวโสด สวย และรวยมาก มีรายได้ค่าเช่าบ้าน เดือนละ 50,000 บาท และยังได้อุปการะเลี้ยงดูบิดาที่มีอายุ 61 ปี นอกจากจะสวยแล้วยังใจบุญบริจาคเงินช่วยเหลือมูลนิธิเพื่อคนพิการในเดือนมี.ค จำนวน 5,000 บาท

 

สามารถคำนวณการเสียภาษีภงด.94 ได้ดังนี้

วิธีที่1
เงินได้ค่าเช่าบ้าน ม.ค – มิ.ย. (50,000*6)                300,000 บาท
หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมา 30%  (300,000*30%)   (90,000) บาท
หักค่าลดหย่อนส่วนตัว                                           (15,000) บาท
หักอุปการะเลี้ยงดูบิดา (อายุ 61 ปี)                          (15,000)  บาท
หักเงินบริจาคตามที่จ่ายจริง                                    (5,000)  บาท
เงินได้สุทธิก่อนเสียภาษี                                          175,000  บาท

ต้องเสียภาษีดังนี้

เงินได้ 150,000 บาทแรก ยกเว้นภาษี และที่เหลือ 25,000 บาท (ที่เกินจาก 150,000 บาท) อยู่ในช่วงอัตราภาษี 5%  เท่ากับว่าต้องเสียภาษี 1,250 บาท

 

วิธีที่2
คำนวณภาษีจาก 300,000 * 0.005 = 1,500 บาท

 

สรุป นางสาวจิ๊ฟฟี่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีจำนวน 1,250 บาท (ดูปากจิ๊ฟฟี่นะคะ หนึ่งพันสองร้อยห้าสิบบาทถ้วน)

 

อ้าว งงกันหละสิ ….ก็วิธีที่ 2 เสียภาษีมากกว่า ไหงเสียภาษีวิธีที่ 1 … แท่น แทน แท๊น …ก็วิธีที่ 2 ยอดภาษีน้อยกว่า 5,000 บาท นางสาวจิ๊ฟฟี่เลยต้องไปเสียตามวิธีที่ 1 แทนค๊า

 

สามารถอ่านวิธีกรอกแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี(ภงด.94) ปีภาษี 2557 แบบละเอียดยิบๆ ได้ที่นี่

http://www.rd.go.th/fileadmin/tax_pdf/pit/Ins942557_020757.pdf

 

ขอบพระคุณที่ติดตามมาถึงตรงนี้กันนะคะ หวังว่าบทความนี้คงจะช่วย ให้เข้าใจการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีมากขึ้น พบกันใหม่บทความหน้าค๊า  (^_^)

เข้าฤดูน้ำหลาก เอ้ย ไม่ใช่ … โค้งสุดท้ายของการยื่นแบบและนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีกันแล้ว (หมดเขตการนำส่งวันที่ 30 กันยายน 2557 นี้นะคะ) มีหลายคนยัง งง และ สงสัย ว่า อะไรคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี หรือศัพท์ในวงการ(วงการไหน?) เรียกว่า ภงด. 94 ว่าต้องยื่นด้วยมั้ย เพราะที่ยื่นสิ้นปี(ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี) ก็ปวดหัวพอแล้ว ยังจะมายื่นอะไร ครึ่งปง ครึ่งปีกันอีก

วันนี้ทางสำนักงานเลยจะมาไขข้อข้องใจ ว่า อะไรคือภงด.94 กันค๊า

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีหรือเรียกกันสั้นๆว่า ภงด.94 เป็นภาษีที่เสียก่อนถึงกำหนดเวลาเสียภาษีสิ้นปี โดยมีกำหนดเวลาในการยื่นแบบภายในเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีภาษีนั้น ซึ่งคำนวณภาษีจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง 40(8) ตามเกณฑ์เงินสดในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนในปีภาษีนั้น นั่นแสดงว่าถ้าเราไม่ได้รับเงินได้ 40(5) – (8) ในช่วงครึ่งปีแรกก็ไม่เกี่ยวกับภงด.94 แล้ว (สบายใจได้)
แต่ช้าก่อน สรรพากรยังใจดีให้อีก หากมีเงินได้ดังกล่าวข้างต้นไม่ถึงเกณฑ์ดังต่อไปนี้ก็ไม่ต้องยื่นภงด.94 เช่นกัน 

1. ผู้ที่เป็นโสด ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาท

2. ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมินไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสอง ฝ่ายรวมกันเกินกว่า 60,000 บาท

พูดง่ายๆก็คือ หากมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ถึง 40(8) ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ได้รับไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ก็ไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีนะคะ นอกจากนี้ ภาษีที่เราได้เสียไปครึ่งปีแล้วก็ยังไม่เสียเปล่า หากเรายื่นเสียภาษีสิ้นปี ก็ยังนำภาษีครึ่งปีนี้ ไปเป็น เครดิตภาษี หัก ออกจากภาษีสิ้นปีได้อีกด้วย

140911_ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี ภงด.94

แล้วอะไรคือเงินได้ 40(5) – (8)??

ประเภทของเงินได้ที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี 

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) ได้แก่ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน อาทิ การให้เช่าที่ดิน บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น รถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ได้แก่ เงินได้จากวิชาชีพอิสระต่างๆ เช่น เงินได้จากการประกอบโรคศิลปหรือแพทย์รักษาคนไข้ วิชาชีพกฎหมาย(ค่าว่าความของทนายความ) ค่าที่ปรึกษาทางวิศวกร ค่าออกแบบของสถาปนิก ค่ารับจ้างทำบัญชี (ไม่รวมถึงบริการอื่นๆ เช่น การรับจ้างจดทะเบียนต่างๆ) หรือค่าสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตหรือผู้สอบบัญชีภาษีอากร ค่าจ้างของผู้รับจ้างทำงานประณีตศิลป์ เช่น ช่างวาด ช่างปั้น ช่างหล่อ เป็นต้น 

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) ได้แก่ เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง

เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ได้แก่ เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่น นอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40(1) ถึง (7) รวมทั้งการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมุ่งในทางการค้าหรือหากำไรด้วย อาทิ การขายสินค้าที่ผู้ขายไม่ได้เป็นผู้ผลิต รางวัลจากการประกวดแข่งขัน ชิงโชค เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) เงินค่าขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) รวมทั้งค่ารักษาสัตว์ของสัตวแพทย์ ซึ่งไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการประกอบโรคศิลปตามมาตรา 40(6) หรือ “นักแสดงสาธารณะ” ที่กินความไปถึง นักแสดงเพื่อความบันเทิงใด ๆ หรือนักกีฬาอาชีพ อาทิ นักฟุตบอลอาชีพ นักแบดมินตันอาชีพ นักมวยสากลอาชีพ เป็นต้น

มึนขึ้นกว่าเดิมกันมั้ยคะ (>_<)

วันนี้พอแค่นี้ก่อนดีกว่า …. หวังว่าผู้อ่าน/ ผู้แอบอ่านทุกท่าน คงพอจะเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีไม่มากก็น้อยกันนะคะ ว่าใครมีหน้าที่ที่ต้องเสียบ้าง และเสียจากเงินได้ประเภทใด รวมถึงช่วงเวลาการยื่นแบบและนำส่งภาษี คราวหน้าทางสำนักงานจะมานำเสนอการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีต่อค๊า โปรดติดตามตอนต่อไป (to be continued….)

จากบทความก่อนหน้า ได้กล่าวถึงรูปแบบขององค์กรธุรกิจกันไปแล้ว ในบทความนี้จะพูดถึงข้อดี-ข้อเสียของกิจการแต่ละประเภทกันนะค๊า

 

กิจการเจ้าของคนเดียว

 ข้อดี

  1. เจ้าของมีอำนาจในการตัดสินใจเต็มที่
  2. ผลกำไรจากการทำธุรกิจ เจ้าของได้รับโดยตรงซึ่งอาจจะนำไปลงทุนเพิ่มได้เองตามความต้องการ
  3. ตัดสินใจเลิกกิจการได้ง่าย หากเห็นว่ากิจการมีแนวโน้มที่จะขาดทุน
  4. ค่าใช้จ่ายด้านการบริหารต่ำ
  5. ข้อบังคับทางกฎหมายน้อย

ข้อเสีย

  1. ปริมาณเงินลงทุนมีจำกัดจากเงินลงทุนส่วนตัวของเจ้าของหรือการหยิบยืมจากคนรู้จัก
  2. ความรับผิดชอบต่อหนี้สินของกิจการ เจ้าหนี้สามารถตามยึดทรัพย์สินส่วนตัวของเจ้าของกิจการได้ แม้มิใช่ทรัพย์สินที่ลงทุนในกิจการ
  3. กิจการมีอายุจำกัด โดยจะคงอยู่เมื่อเจ้าของยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเจ้าของเสียชีวิต ทรัพย์สินของกิจการก็จะถูกรวมเป็นทรัพย์สินของเจ้าของกิจการและส่งมอบให้แก่ทายาทผู้สืบทอดมรดก ซึ่งทายาทอาจไม่ดำเนินกิจการต่อ
  4. ไม่สามารถระดมทุนจากภายนอกได้เต็มที่ นอกจากการใช้เครดิตส่วนตัวของเจ้าของเท่านั้น
  5. ขาดความน่าเชื่อถือของกิจการ

 

ห้างหุ้นส่วน

 ข้อดี

  1. มีแหล่งเงินทุนมากกว่ากิจการเจ้าของคนเดียว
  2. สามารถใช้ความสามารถในการบริหารโดยระดมสมองร่วมกันตัดสินใจบริหารงาน
  3. การเสี่ยงน้อยลง เพราะมีผู้ร่วมเฉลี่ยภาระการเสี่ยง
  4. การจัดตั้งไม่ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งกิจการต่ำ
  5. เลิกกิจการได้ง่าย

 ข้อเสีย

  1. มีการระดมทุนในวงจำกัดเฉพาะจากผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น
  2. กำไรถูกแบ่งเฉพาะหุ้นส่วน
  3. การตัดสินใจอาจล่าช้า เพราะความคิดเห็นขัดแย้งกันในบางกรณี
  4. มีอายุจำกัด ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของห้างหุ้นส่วนแต่ละแห่ง ถ้ามิได้ระบุเป็นอย่างอื่น ความเป็นห้างจะสิ้นสุดลงเมื่อหุ้นส่วนถอนตัว หรือมีหุ้นส่วนคนใดเสียชีวิตลง
  5. การไม่จำกัดความรับผิดชอบของหุ้นส่วน ทำให้อาจไม่กล้าเสี่ยงขยายกิจการ

บริษัทจำกัด

ข้อดี

  1. ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทเพียงเท่ากับเงินลงทุนที่สัญญาจะลงทุนตามมูลค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบ (ผู้ถือหุ้นมีความรับผิดชอบเพียงมูลค่าที่ตนยังค้างชำระเท่านั้น)
  2. เจ้าหนี้ไม่สามารถไปยึดทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ถือหุ้นได้
  3. ผู้ถือหุ้นสามารถขายหรือโอนหุ้นให้กับผู้อื่นได้
  4. กรณีผู้ถือหุ้นตาย ล้มละลาย หรือศาลสั่งให้ออกจากผู้ถือหุ้น บริษัทก็ยังดำเนินกิจการต่อไปได้
  5. มีความน่าเชื่อถือกว่ากิจการเจ้าของคนเดียว หรือห้างหุ้นส่วน

 ข้อเสีย

  1. ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก
  2. ค่าใช้จ่ายในการบริหารสูง
  3. การเลิกกิจการทำได้ยาก ต้องมีการชำระบัญชีและจัดการให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย
  4. ข้อมูลสามารถรับรู้ได้โดยง่าย เนื่องจากต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นและบุคคลภายนอกทราบจึงไม่อาจรักษาความลับได้
  5. ในการดำเนินการของบริษัทจำกัด มีทั้งผู้ถือหุ้น คณะกรรมการบริษัทและพนักงาน ดังนั้นในการปฏิบัติงานอาจจะมีบางส่วนที่ขาดความตั้งใจในการทำงานเพราะไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการเอง

 

เมื่อทราบข้อดี-ข้อเสียของกิจการแต่ละประเภทแล้ว ผู้ประกอบการคงต้องตัดสินใจเลือกรูปแบบการทำธุรกิจตามประเภทของธุรกิจที่จะดำเนินการ ขนาด เงินลงทุน การบริหารจัดการ ข้อบังคับตามกฎหมายและภาษี รวมถึงการขยายธุรกิจหรือยกเลิกธุรกิจกันนะคะ

จัดกันมาอย่างต่อเนื่อง …. วันนี้จะมานำเสนอรูปแบบขององค์กรธุรกิจ (^_^)

ผู้ประกอบการจะจัดตั้งกิจการประเภทใดนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่ากิจการรูปแบบใดจะเหมาะกับธุรกิจที่กำลังจะทำ รวมถึงการพิจารณาปัจจัยด้านเงินทุน หุ้นส่วน ผลตอบแทน การเสียภาษีที่แตกต่างกันในแต่ละลักษณะของการจัดตั้ง และโอกาสทางธุรกิจว่ามีความสามารถในการขยายตัวทางธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังรวมถึงความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะรับได้หากเกิดข้อผิดพลาดหรือหนี้สินจากการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดตั้งกิจการขึ้นแล้ว ในภายหน้าผู้ประกอบการอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดตั้งได้ แต่อาจมีความยุ่งยากในการเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปรูปแบบขององค์กรธุรกิจมักมีดังนี้

  1. กิจการเจ้าของคนเดียวเป็นรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมซึ่งพบเห็นโดยทั่วไปมากที่สุด เช่น ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านขายอาหาร เป็นต้น เป็นกิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของหรือลงทุนคนเดียว ควบคุมการดำเนินงานเองทั้งหมด เมื่อกิจการประสบผลสำเร็จมีผลกำไร ก็จะได้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียว ในขณะเดียวกันก็ยอมรับการเสี่ยงภัยจากการขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน ดังนั้นเจ้าของกิจการและธุรกิจก็ถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งในแง่ภาษีและความรับผิดชอบทางกฎหมาย เจ้าของจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยื่นแบบแสดงรายรับและค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์เงินสด
  2. ห้างหุ้นส่วนเป็นกิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจประเภทนี้สืบต่อมาจากธุรกิจเจ้าของคนเดียว เมื่อกิจการดำเนินงานก้าวหน้าขึ้น ต้องการเงินทุนและการจัดการเพิ่มขึ้น จึงต้องหาบุคคลที่ไว้วางใจได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน

ส่วนใหญ่กิจการห้างหุ้นส่วนในประเทศไทยมี 2 ประเภทคือ

  1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

 

กิจการทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันในส่วนของอำนาจและความรับผิดชอบของหุ้นส่วนกล่าวคือ

ห้างหุ้นส่วนสามัญ

มีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียว คือ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด ห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนจะเรียกว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

หุ้นส่วนจะมี 2 ประเภทคือ

  • หุ้นส่วนผู้จัดการ มีอำนาจในการบริหารและรับผิดชอบต่อหนี้สินอย่างไม่จำกัด
  • หุ้นส่วนจำกัด ไม่มีอำนาจในการบริหารและรับผิดชอบต่อหนี้สินเพียงเท่าที่ลงทุน

 

เมื่อจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว ห้างหุ้นส่วนจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน

  1. บริษัทจำกัด

การจัดตั้งบริษัทจำกัดจะต้องมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ร่วมกันจัดตั้งบริษัทโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บริษัทจำกัดเป็นกิจการที่มีการดำเนินการแพร่หลายในประเทศไทย ผู้ถือหุ้นแต่ละคนรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทเฉพาะเท่าที่ลงทุนในกิจการ เจ้าหนี้ไม่สามารถตามไปยึดทรัพย์ของผู้ถือหุ้นได้ นอกจากนี้กิจการจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้มีอำนาจในการบริหารงาน ผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจไม่สามารถเข้ามาบริหารกิจการได้ แต่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและสอบถามความก้าวหน้าของกิจการได้ รวมทั้งมีสิทธิเสนอเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจได้

  1. บริษัทมหาชนจำกัด

มีโครงสร้างเหมือนกับบริษัทจำกัด คือ มีผู้ลงทุน เรียกว่า ผู้ถือหุ้น รับผิดชอบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังไม่ชำระ มีคณะกรรมการเป็นผู้บริหาร แต่ต้องมีกลุ่มผู้ก่อการเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป และมีกรรมการตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

 

โดยบริษัทมหาชนนั้นเป็นกิจการที่ต้องมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการระดมทุนจากภายนอกทั้งจากการขายหุ้นหรือการออกหุ้นกู้หรือเอกสารตราสารต่างๆ

140609_รูปแบบขององค์กรธุรกิจ

 

อ้างอิง : คู่มือผู้ประกอบการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535