จัดกันมาอย่างต่อเนื่อง …. วันนี้จะมานำเสนอรูปแบบขององค์กรธุรกิจ (^_^)

ผู้ประกอบการจะจัดตั้งกิจการประเภทใดนั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่ากิจการรูปแบบใดจะเหมาะกับธุรกิจที่กำลังจะทำ รวมถึงการพิจารณาปัจจัยด้านเงินทุน หุ้นส่วน ผลตอบแทน การเสียภาษีที่แตกต่างกันในแต่ละลักษณะของการจัดตั้ง และโอกาสทางธุรกิจว่ามีความสามารถในการขยายตัวทางธุรกิจได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ยังรวมถึงความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะรับได้หากเกิดข้อผิดพลาดหรือหนี้สินจากการดำเนินกิจการ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการจัดตั้งกิจการขึ้นแล้ว ในภายหน้าผู้ประกอบการอาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดตั้งได้ แต่อาจมีความยุ่งยากในการเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปรูปแบบขององค์กรธุรกิจมักมีดังนี้

  1. กิจการเจ้าของคนเดียวเป็นรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมซึ่งพบเห็นโดยทั่วไปมากที่สุด เช่น ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านขายอาหาร เป็นต้น เป็นกิจการที่มีบุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของหรือลงทุนคนเดียว ควบคุมการดำเนินงานเองทั้งหมด เมื่อกิจการประสบผลสำเร็จมีผลกำไร ก็จะได้รับผลประโยชน์เพียงคนเดียว ในขณะเดียวกันก็ยอมรับการเสี่ยงภัยจากการขาดทุนเพียงคนเดียวเช่นกัน ดังนั้นเจ้าของกิจการและธุรกิจก็ถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน ซึ่งในแง่ภาษีและความรับผิดชอบทางกฎหมาย เจ้าของจะต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยยื่นแบบแสดงรายรับและค่าใช้จ่ายตามเกณฑ์เงินสด
  2. ห้างหุ้นส่วนเป็นกิจการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ร่วมกันลงทุนและดำเนินกิจการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ซึ่งธุรกิจประเภทนี้สืบต่อมาจากธุรกิจเจ้าของคนเดียว เมื่อกิจการดำเนินงานก้าวหน้าขึ้น ต้องการเงินทุนและการจัดการเพิ่มขึ้น จึงต้องหาบุคคลที่ไว้วางใจได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนร่วมดำเนินงาน

ส่วนใหญ่กิจการห้างหุ้นส่วนในประเทศไทยมี 2 ประเภทคือ

  1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ
  2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด

 

กิจการทั้ง 2 ประเภทมีความแตกต่างกันในส่วนของอำนาจและความรับผิดชอบของหุ้นส่วนกล่าวคือ

ห้างหุ้นส่วนสามัญ

มีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียว คือ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด ห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนจะเรียกว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

 

ห้างหุ้นส่วนจำกัด

หุ้นส่วนจะมี 2 ประเภทคือ

  • หุ้นส่วนผู้จัดการ มีอำนาจในการบริหารและรับผิดชอบต่อหนี้สินอย่างไม่จำกัด
  • หุ้นส่วนจำกัด ไม่มีอำนาจในการบริหารและรับผิดชอบต่อหนี้สินเพียงเท่าที่ลงทุน

 

เมื่อจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว ห้างหุ้นส่วนจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน

  1. บริษัทจำกัด

การจัดตั้งบริษัทจำกัดจะต้องมีผู้เริ่มก่อการตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ร่วมกันจัดตั้งบริษัทโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล บริษัทจำกัดเป็นกิจการที่มีการดำเนินการแพร่หลายในประเทศไทย ผู้ถือหุ้นแต่ละคนรับผิดชอบในหนี้สินของบริษัทเฉพาะเท่าที่ลงทุนในกิจการ เจ้าหนี้ไม่สามารถตามไปยึดทรัพย์ของผู้ถือหุ้นได้ นอกจากนี้กิจการจะมีการแต่งตั้งกรรมการผู้มีอำนาจในการบริหารงาน ผู้ถือหุ้นที่ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจไม่สามารถเข้ามาบริหารกิจการได้ แต่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นและสอบถามความก้าวหน้าของกิจการได้ รวมทั้งมีสิทธิเสนอเปลี่ยนแปลงกรรมการผู้มีอำนาจได้

  1. บริษัทมหาชนจำกัด

มีโครงสร้างเหมือนกับบริษัทจำกัด คือ มีผู้ลงทุน เรียกว่า ผู้ถือหุ้น รับผิดชอบจำกัดไม่เกินจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังไม่ชำระ มีคณะกรรมการเป็นผู้บริหาร แต่ต้องมีกลุ่มผู้ก่อการเป็นบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป และมีกรรมการตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

 

โดยบริษัทมหาชนนั้นเป็นกิจการที่ต้องมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการระดมทุนจากภายนอกทั้งจากการขายหุ้นหรือการออกหุ้นกู้หรือเอกสารตราสารต่างๆ

140609_รูปแบบขององค์กรธุรกิจ

 

อ้างอิง : คู่มือผู้ประกอบการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535