ขอบคุณ โครงการ Make The Difference ของ TMB ที่ทำให้ได้เขียนบทควมนี้ส่งประกวด ไม่แน่ใจว่าเอามาลงได้มั๊ย แต่ผมว่า เค้าคงไม่ว่าอะไร เพราะมันนานมาแล้ว

เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้คงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะหวังจะสร้างแรงบันดาลใจที่มากมายมหาศาลกับโลกใบนี้ แต่ถ้าหากยังขาดแรงบันดาลใจและพอจะมีเวลา อยากให้ลองเดินและมองหา “คนบันดาลใจ” ไปด้วยกัน

 

หากความทรงจำไม่ผิดพลาดไป ผมจำได้ว่าตอนเด็กๆ ผมอ่านหนังสือออก นับเลขได้ ท่องสูตรคูณแม่สองถึงแม่สิบสองได้ก่อนเข้าเรียนอนุบาล ทั้งหมดนี้ผมคงจะต้องยกความดีนี้ให้กับใครไม่ได้นอกจาก คุณแม่ “นักรียูส” (Re-Use) ของผมเอง ใช่แล้วครับเมื่อยี่สิบหกปีก่อน ก่อนที่เริ่มจะมีคำว่า “รียูส” ให้ได้ยินทางทีวีซะอีก กระดานตัวเลขจาก ปฏิทิน กระดาน กอไก่ถึง ฮ.นกฮูกจากนิยสาร หนังสือพิมพ์ แผ่นพับ ใบปลิว จากจุดเล็กๆ จุดนี้ทำให้ผมมีแนวคิดเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่จากชีวิตจริงโดยไม่ต้องพึ่งคำนิยามที่มีให้ฟังในทีวี

 

ผมเกิดมาในสมัยที่ครูมักจะสอนพิเศษให้กับนักเรียน เป็นรายได้พิเศษของครูในตอนเย็น อาจจะด้วยความโชคดีผมก็ได้พบกับ “ครู” ที่สอนพิเศษตอนเย็น แต่ความแตกต่างก็คือท่านเสียสละเวลาส่วนตัวให้กับนักเรียนที่อยากจะพัฒนาตัวเองโดยไม่คิดค่าตอบแทนแม้แต่น้อยทั้งๆที่ท่านก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอีกมากมายนอกเหนือจากการสอบปกติ และสิ่งๆนี้ทำให้ผมรู้จักคำว่า “เสียสละ”, “การให้ความรู้” และจิตวิญญาณของความเป็น “ครู”  ในยุคที่ใครหลายคนลืมมันไป

 

ในกระแสสังคมที่ต้องเลือกข้าง เลือกสี เลือกฝ่าย บทสนทนาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องราวทางการเมืองก็ลามมาถึงที่ทำงานที่ผมทำงานอยู่ด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่หนักหนานักแต่ก็มีให้ได้ฟังทุกวัน และนี่ก็เป็นคำถามและคำตอบที่ผมจำได้ตลอดมา พี่คนหนึ่งถามอดีตหัวหน้าผมว่า “พี่ไม่ไปกับเค้าด้วยเหรอ? พี่ไม่รักประเทศไทยเหรอ? พี่ไม่รักในหลวงเหรอ?” ยังไม่ทันจะหายใจหลังจากคำถามจบลง อดีตหัวหน้าผมตอบว่า “พี่รักประเทศไทยด้วยการใช้ชีวิต พี่รักในหลวงด้วยการใช้ชีวิต พี่เดินมาทำงาน (ทั้งๆ ที่มีรถประจำตำแหน่ง) พี่หิ้วตระกร้าไปตลาดสดแทนที่จะใช้ถุงพลาสติก พี่ซื้อของร้านโชห่วยแถวบ้านแทนการซื้อของจากห้างโมเดิร์นเทรดถึงแม้ว่าจะแพงกว่าเพราะต้องการให้คนในพื้นที่มีรายได้” “แต่พี่กินสตาร์บัค” พี่คนเดิมสวนกลับด้วยความรวดเร็วเช่นกัน “ถ้ามีบ้านไร่เปิดที่ใต้ตึกพี่ก็จะเลิกกินสตาร์บัค” อดีตหัวหน้าผมตอบ ภาพนักเรียนนอก ถือแก้วสตาร์บัค พูดไทยปนภาษาอังกฤษเล็กน้อยหายไปจากความรู้สึกผมอย่างไม่ต้องกังขา

 

ถ้าหากว่าการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยสิ่งที่เรียกว่า “แรงบันดาลใจ” คงไม่ผิดนักถ้าผมจะเรียก คุณแม่นักรียูส คุณครูผู้ให้ และ หัวหน้าที่รักประเทศไทยและในหลวงด้วยการใช้ชีวิต ว่าเป็น “คนบันดาลใจ” ที่ถ่ายทอดความคิด ความตั้งใจ และแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของผม ไม่ให้ไหลไปตามกระแสของทุนนิยม ให้รู้จักใช้ทรัพยากรต่างๆอย่างมีคุณค่า แบ่งปันความรู้ให้กับคนที่ไม่รู้ และให้โอกาสกับคนที่ไม่มีโอกาส และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

 

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด สำหรับผมนั้นก็คือการเปลี่ยนแปลง “ตัวเอง” ไปในทางทีดีขึ้นไม่ว่างจะทางใดก็ตาม ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจจะยังไม่สามารถเป็น “คนบันดาลใจ” ของคนที่อยู่รอบตัว แต่ผมก็เชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้าทุกคนมี “คนบันดาลใจ” ที่ทำให้คิดอยากจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี สังคมของเรา ประเทศของเรา โลกของเราก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

 

 

ถ้าหากได้ลองค้นหาคุณจะพบว่า “คนบันดาลใจ” ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นใครที่อยู่ใกล้ๆ คุณ